ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของการใช้สมาร์ทโฟน โดยพบว่าปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 57 ล้านคน ผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำ 51 ล้านคน ผู้ใช้มือถือประมาณ 55.56 ล้านเครื่อง และผู้ใช้งานสื่อโซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนประมาณ 46 ล้านเครื่อง
กิจกรรมหนึ่งที่เติบโตควบคู่กันกับการใช้สมาร์ทโฟน คือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดย ลาซาด้า ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปี 2561 การซื้อสินค้าหรือบริการผ่านออนไลน์ติด Top 5 กิจกรรมที่คนท่องอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยนิยมสูงสุด
ขณะที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA เผยพฤติกรรมการใช้งานอินเตอร์เน็ต เพื่อซื้อของออนไลน์ของคนไทย มีสัดส่วนอยู่ที่ 51.28% ขณะที่การขายสินค้าและบริการ มีสัดส่วนอยู่ที่ 24.48%
ทิศทางการเติบโตของตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์ตอกย้ำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า ความเคลื่อนไหวของสังคมออนไลน์ และเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกคน โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสินค้าเกือบทุกประเภท สามารถซื้อขายผ่านออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของ “สินค้าการเกษตร”
เทรนด์ดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกษตรกรไทย ต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและต้องหันกลับมาศึกษาและสามารถก้าวเข้าสู่โลกของการซื้อขายยุคใหม่ที่ต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อโดยตรง
ล่าสุด องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เป็นอีกหนึ่งองค์กร ที่เข้ามาร่วมช่วยสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกร โดยได้จัดให้มีกิจกรรมซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้การจัดทำแอปพลิเคชัน “ปลูกเอง ขายเอง” เป็นการเปลี่ยนกรอบคำจำกัดความของคำว่า “ตลาด” จากที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงศูนย์กลางกระจายสินค้า หรือตลาดซื้อขายสินค้าทั่วไป ผู้ซื้อต้องเดินไปเลือกสรรสินค้าด้วยตัวเอง ให้กลายมาเป็นตลาดมีความทันสมัยมากขึ้น
“เมื่อโลกเปลี่ยน การทำเกษตรยุคใหม่จึงไม่ใช่แค่การเป็นผู้ปลูกอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ครบรอบด้าน ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงตลาดปลายทาง และให้ความสำคัญกับความต้องการผู้บริโภครู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจ”
อ.ต.ก.ชูเป้าหมายของการจัดทำแอป “ปลูกเอง ขายเอง”
เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้ถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง
แอปพลิเคชัน “ปลูกเอง ขายเอง” มีความน่าสนใจ และแตกต่างจากตลาดซื้อขายสินค้าทั่วไป ในด้านของการชูภาพลักษณ์ของแบรนด์ อ.ต.ก. ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพราะแม้ในปัจจุบันจะมีช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ค่อนข้างมากและหลากหลาย แต่ในที่สุดแล้ว คำว่า “สินค้าของตลาด อ.ต.ก.” ก็ยังสามารถใช้เป็นเครื่องการันตีคุณภาพสินค้าเกษตรได้ว่าจะเป็นสินค้าที่คัดมาแล้วว่า “ดี”
รูปแบบของแอปพลิเคชัน แบ่งฟีเจอร์ในส่วนผู้ซื้อ และเกษตรกรผู้ขาย มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ทันสมัย ครอบคลุมทั้งระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพทั้งในฤดูและนอกฤดู ระบบฐานข้อมูลด้านการผลิต ข้อมูลด้านการตลาด มีการจัดทำระบบอีคอมเมิร์ซที่เชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นเข้ากับระบบจ่ายเงินออนไลน์
นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนารูปแบบของแอปพลิเคชัน เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเปิดให้มีการจองผลผลิตสินค้าไว้ล่างหน้า โดยผู้ซื้อจะสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าที่จองได้ในช่วงเวลา
เช่น เมื่อผู้ซื้อเข้าไปสั่งจองต้นไม้ไว้กับผู้ขายจะมีป้าย QR Code ติดที่ต้นไม้ระบุความเป็นเจ้าของของผู้ซื้อด้วย ระบบดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อสามารถติดตามต้นไม้ที่ตัวเองสั่งซื้อผ่านทางแอปพลิเคชัน โดยเกษตรกรจะคอยส่งภาพอัพเดทพัฒนาการการเจริญเติบโตของผลผลิต ที่จะช่วยสร้างคุณค่าและความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ทำให้รู้ถึงแหล่งที่มาที่ไปของการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย สามารถบริโภคได้อย่างมั่นใจ
การจัดการตลาดรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แอปพลิเคชัน “ปลูกเอง ขายเอง” เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการเกษตรไทย ด้วยการสร้างบริการที่เข้าถึงความพึงพอใจของผู้ซื้อโดยตรงและยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับเกษตรกรผู้ปลูกตัวจริง และผลที่จะเกิดขึ้นในที่สุดแล้ว ยังจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การพัฒนาการเกษตรของไทยเติบโตและเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความยั่งยืน
ขั้นตอนการลงขายสินค้าสำหรับชาวสวน
- ติดต่อสมัครและลงทะเบียนกับ อ.ต.ก. เพื่อเป็นผู้ปลูกและขายออนไลน์
- บอกประเภทและจำนวนต้นไม้ที่จะขาย แจ้งชื่อสวน สถานที่ พิกัดของสวนประเภทและจำนวนต้นไม้ที่ต้องการนำเข้ามาขายในแอพพลิเคชั่น
- รอลูกค้าเข้ามาสั่งซื้อ โดยระหว่างนี้ สามารถทำโฆษณาสวนตัวเองได้ บอกสรรพคุณต่างๆ หรือข้อดีของสวน เช่น ไม่ใช้สารเคมี , พันธุ์สวยผลดก เป็นต้น
- ปลูกต้นไม้ หรือดูแลตามเทคนิคของตนเอง โฆษณาหรือสื่อสาร การปลูก ดูแลต้นไม้ หรือเรื่องราวสวนเป็นระยะ
- ถ่ายภาพส่งให้ผู้ซื้อ อัพเดทเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน โดยใช้ QR Code เพื่อความสะดวกในการถ่ายรูป และส่งให้ผู้ซื้อ โดยผู้ใช้แอพฯสามารถแสดงความคิดเห็นใต้ภาพบอกเล่าเรื่องราวได้
- เก็บผลผลิต และนำส่งให้ลูกค้า โดยลูกค้าสามารถมารับได้เองที่สวน หรือให้ชาวสวนจัดส่งให้ คิดค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกันไว้
ขั้นตอนการสั่งซื้อออนไลน์สำหรับลูกค้า
- ผู้ซื้อลงทะเบียนเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน โดยเข้าสู่ระบบผ่าน Facebook
- เลือกซื้อ โดยค้นหาสวนหรือต้นไม้ที่ตนเองชอบจากข้อมูลที่ชาวสวนโพสต์ไว้ หรือคนอื่นๆรีวิว และให้ดาว ฯลฯ
- สั่งซื้อ และชำระเงิน เช่น สั่งซื้อกล้วยจากสวนที่ชอบผ่านแอปพลิเคชัน หรือสามารถซื้อโดยตรงจากที่สวนก็ได้ชำระเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน
- ติดตามต้นไม้ของตัวเองที่ซื้อผ่านทางแอปพลิเคชัน สามารถติดตามต้นไม้ที่สั่งซื้อจากรูปถ่ายที่ชาวสวนส่งมาให้ดูสามารถคอมเมนต์ต้นไม้และแชร์ภาพต้นไม้ผ่านโซเชียลได้
- รับต้นไม้ที่ซื้อ โดยสามารถไปรับได้เองที่สวน ทำความรู้จักกับชาวสวน หรือจะให้ชาวสวนจัดส่งที่บ้าน (ค่าใช้จ่ายตกลงกับชาวสวน)
Category: