ผู้บริหารถือเป็นหน้าเป็นตาของบริษัท การตัดสินใจของคุณจะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของธุรกิจที่บริษัทของคุณทำอยู่ ตั้งแต่ผลกำไร-ขาดทุน ไปจนถึงความสุขในการทำงานของพนักงาน ดังนั้น การตัดสินใจผิดพลาดครั้งหนึ่ง อาจส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทอย่างร้ายแรงได้
5 ข้อ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับในการเลี่ยงการตัดสินใจผิดพลาดสำหรับผู้บริหารของบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงการเติบโต
1. รู้ตัวว่าเมื่อใดควรจ่ายงานให้ผู้อื่นทำ
ผู้บริหารมักพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะมั่นใจว่าตัวเองสามารถทำงานเสร็จเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่น แต่…การที่คุณเสียเวลาทำงานเล็กๆ น้อยๆ กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของคุณเสียเอง เพราะเวลาและความใส่ใจในการทำหน้าที่หลักของคุณจะลดน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
ในบริษัทที่กำลังเติบโต งานหลักของผู้บริหารระดับสูงคือการกำหนดแนวทางของบริษัท ดังนั้น คุณไม่ควรลงไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานหลัก เช่น การทำบัญชี หรือเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอง ถ้ามีปัญหากับบัญชี ให้จ้างนักบัญชีมาช่วย ถ้าต้องเขียนโปรแกรมก็ให้จ้างโปรแกรมเมอร์มาทำ
2. ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต่างให้ความสำคัญ เพราะกระทบโดยตรงต่อผลกำไร และขาดทุนในแต่ละปีของบริษัท ดังนั้น บริษัทหลายแห่งจึงพยายามหาวิธีลดต้นทุนในส่วนนี้ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่หากจำเป็นต้องตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ให้พิจารณาว่า การลดค่าใช้จ่ายอย่างขาดความรอบคอบ อาจทำให้ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทลดลงได้ และเกิดเป็นผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัทตามมา
3. คิดการณ์ไกลอยู่เสมอ
แบรนด์ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว คุณต้องมองและคิดการไกลเพื่อคาดการณ์ ทำความเข้าใจ และหาวิธีแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทหรืออุตสาหกรรมของคุณในอนาคต
4. จ่ายเงินเดือนให้พนักงานอย่างเหมาะสม
ผู้นำองค์กรหลายแห่งยอมปล่อยให้พนักงานฝีมือดีลาออกไปเป็นจำนวนมาก แทนที่จะเพิ่มอัตราเงินเดือนเพื่อรักษาพนักงานเอาไว้ แต่หารู้ไม่ว่า อัตราการลาออกของพนักงานสูงเท่าใด คุณจะมีค่าใช้จ่ายในการฝึกพนักงานใหม่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และคนอื่นๆ อาจมองว่าคุณเป็นผู้บริหารที่ไม่ดูแลเอาใจใส่พนักงานอีกด้วย
นอกจากการเพิ่มอัตราเงินเดือนให้พนักงานอย่างเหมาะสมแล้ว คุณควรให้ความสำคัญกับผลงานของพนักงาน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสำคัญต่อบริษัท และอยากอยู่ทำงานด้วยต่อไปนานๆ
การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีให้กับพนักงาน เป็นเรื่องสำคัญของบริษัทที่กำลังเจริญเติบโตทุกๆ แห่ง
5. อย่ากล่าวโทษทีมของคุณเมื่อเกิดปัญหา
เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไม่ควรกล่าวโทษทีมงานของคุณว่าเป็นต้นเหตุ แต่คุณในฐานะที่เป็นผู้บริหารควรยืดอกรับผิดชอบต่อความผิดพลาดทั้งหมดของบริษัท แม้ว่ามันจะไม่ใช่ความผิดของคุณโดยตรงก็ตาม การทำแบบนี้จะทำให้ทั้งลูกค้า และพนักงานรู้สึกยอมรับ และนับถืออำนาจของคุณในฐานะผู้บริหาร
แปล และเรียบเรียงใหม่จากบทความต้นฉบับโดย John Monarch https://www.entrepreneur.com/article/327324
Category: