ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันอันดุเดือดของธุรกิจสายการบิน ไม่ง่ายนักที่ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ จะทะยานเครื่องบินฝ่าอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่นท่ามกลางสารพัดปัญหารุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดจากสายการบินโลว์คอสต์ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ตัวเลขขาดทุนที่สะสมแตะแสนล้านบาท รวมถึงเสียงบ่นจากผู้โดยสารเรื่องเครื่องเก่า แอร์แก่ และบริการไม่ชวนประทับใจเหมือนเดิม
ทั้งหมดนี้ เป็นโจทย์ร้อนๆ ที่กำลังรอให้ 2 ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงของการบินไทยรุ่นปัจจุบัน เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ และ สุเมธ ดำรงชัยธรรม โชว์ฝีมือแก้ไขให้การบินไทยฟื้นจากอาการ “โคม่า” และเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรฯ ให้ตอบสนองโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวินาที
ยกระดับสู่สายการบินพรีเมียม
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการการบินไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจสายการบินค่อนข้างดุเดือด ตัวเขาเองก็เพิ่งเข้าสู่วงการไม่นาน จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อนำพาองค์กรให้เดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแรง โดยหนึ่งในแนวทางการพลิกฟื้นการบินไทยที่เอกนิติวางไว้ ก็คือ
“การบินไทย จะทำทุกอย่างเหมือนเดิมไม่ได้ เราต้องมีการปรับตัว ต้องยกระดับตัวเองให้เป็นสายการบินพรีเมียม เป็น National Premium Airline…..”
เอกนิติ อธิบายว่า ความพรีเมียมของการบินไทยก็คือ ผู้โดยสารจะต้องได้รับความสะดวกสบาย และบริการที่ดี จึงต้องมีการปรับปรุงเรื่องการบริการ (Service) กันขนานใหญ่ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างรสชาติอาหาร โดยจะมีการนำสุดยอดอาหารจากมิชลินสตาร์เข้ามาเสริมทัพ ในส่วนต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเฟ้นหา ส่วนในประเทศ ได้ไปชิมและทดสอบอาหารของเจ๊ไฝ มิชลินสตาร์ชื่อดังของไทยมาแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบว่าหากนำไปทำบนเครื่อง จะได้รสชาติเดียวกันหรือไม่ เพราะเขาเน้นย้ำว่าอาหารไทยจะต้องอร่อย
บุกเบิกเส้นทางพรีเมียมญี่ปุน
เชนได“เมืองต้นไม้”ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากบริการที่ดีแล้ว การยกระดับเส้นทางการบิน (Route) สู่ความเป็นพรีเมียม ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการมองหาเส้นทางบินใหม่ๆ เพื่อสร้างให้เป็นเส้นทางพรีเมียม
“การบินไทยไม่สามารถไปแข่งขันเรื่องราคากับสายการบินโลว์คอสต์ได้ อย่างที่ญี่ปุ่น ตอนนี้แอร์เอเชียเอ็กซ์ ไลอ้อนแอร์ เริ่มบินเข้าโตเกียวที่เรายึดหัวหาดอยู่ เขาบินมาด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเรา แต่บ่อปลาไม่ได้อยู่แค่ที่โตเกียวหรือโอซาก้า เราเพิ่งไปคุยกับทางเซนไดมา เขาอยากให้เราโปรโมท ไม่ต้องไปแข่งขันกับที่อื่น เราจะเข้าไปเซนได ไปบุกเบิกตลาดพรีเมียม ส่วนที่โตเกียว เราก็พยายามเจรจาให้ได้เที่ยวบินเพิ่ม”
ส่วนจะมีเส้นทางพรีเมียมที่ใดอีกบ้างนั้น เขาให้ความเห็นว่า ในอนาคตอีก 10 – 20 ปี เส้นทางที่จะมีการเติบโตและความต้องการเพิ่มขึ้น จะอยู่แถบเอเชียใต้ แถบอินเดีย ส่วนยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของการบินไทย ก็ยังไม่ทิ้ง แต่ต้องทำให้พรีเมียมขึ้น
แก้ปมเครื่องบินเก่าด้วยองค์กรคุณธรรม
ในการยกระดับการบินไทยสู่สายการบินพรีเมียม นอกจากจะต้องยกระดับการบริการ และบุกเบิกเส้นทางบินใหม่ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ “ตัวเครื่องบิน” เพราะถ้าการบินไทยยังใช้เครื่องบินเก่าให้บริการอยู่ จะไม่มีทางเป็นสายการบินพรีเมียมได้เลย
ปัจจุบัน การบินไทยมีเครื่องบินอยู่ประมาณ 100 ลำ เป็นของการบินไทย 80 ลำ ไทยสไมล์ 20 ลำ อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ปี บางลำอายุมากกว่า 20 – 25 ปี ลำใหม่สุดรับมาเมื่อปีที่แล้ว
“หลายปีที่ผ่านมา ไม่มีการอัพเกรดเครื่องบิน เนื่องจากติดปัญหาเชิงระบบ ความกลัวปัญหาในอดีต เปรียบเสมือนเป็นกรรมเก่าที่คอยตามหลอกหลอนคนไทยทุกคนว่า มันมีเครื่องบินที่จอดค้างอยู่ ทำให้เครื่องบินที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ ค่อนข้างเก่า ปัญหาเยอะ เป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยสกัดกั้นไม่ให้การบินไทยก้าวสู่การเป็นสายการบินพรีเมียม”
เอกนิติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีแต่คนพูดว่า อย่าไปซื้อเครื่องบินใหม่ เพราะจะมีการโกงกัน แต่เราทำธุรกิจการบิน ถ้าไม่มีเครื่องบินใหม่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เขาจึงต้องหาทางออกด้วยการลบภาพองค์กรที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใสออกไป
“ผมจะทำให้การบินไทยเป็นองค์กรคุณธรรม เราต้องดึงคนในองค์กรมาเข้าร่วม มาช่วยจับตาดู เพื่อให้เขามีความเชื่อมั่น การปรับโครงสร้างใหม่ของการบินไทย ต้องให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ผมการันตีว่า ในยุคที่ผมมานั่งเป็นบอร์ด จะไม่มีการคอร์รัปชั่น ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญ” เอกนิติยืนยัน
นำทีมผนึกกำลังสายการบินสัญชาติไทย สู้ศึกโอเพ่นสกาย
สำหรับการก้าวสู่ National Premium Airline เอกนิติยอมรับว่า ลำพังการบินไทยทำเองคงไม่ไหว จึงมีแนวคิดว่า ต้องผนึกกำลังกับสายการบินอื่นๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสายการบินของของประเทศ โดยสายการบินแรกที่เล็งไว้ ไม่มีใครเหมาะไปกว่า ไทยสไมล์ เพราะเป็นบริษัทลูกของการบินไทย 100 เปอร์เซ็นต์
“ที่ผ่านมา ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมระบบและการทำงานของการบินไทยและไทยสไมล์ถึงไม่เชื่อมต่อกัน หน้าที่ของเราก็คือต้องทำให้เชื่อมกันให้ได้ ส่วนเป้าหมายถัดไปก็คือนกแอร์ ที่ปัจจุบันการบินไทยถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องทำให้เชื่อมโยงกัน”
เอกนิติ กล่าวต่อไปว่า แค่ไทยสไมล์และนกแอร์ยังไม่เพียงพอ การบินไทยต้องผนึกกำลังกับสายการบินอื่นๆ โดยเฉพาะสายการบินสัญชาติไทยแท้ อย่าง บางกอกแอร์เวย์ และสายการบินลูกครึ่งอย่างไทยแอร์เอเชีย
“ประเทศไทยเป็นประเทศพิเศษมาก ไม่เหมือนญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกว่าจะขอให้ได้เที่ยวบินเพิ่มนี่ยากมาก ของไทยเราโอเพ่นสกาย เปิดกว้าง การแข่งขันจึงสูง ดังนั้น สายการบินสัญชาติไทยต้องผนึกกำลังกันให้แน่นหนา ต้องเชื่อมกันให้เกิดความแข็งแกร่ง ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะอยู่กันไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการพูดคุยกันและเกริ่นๆ กันเบื้องต้นแล้ว ทุกคนบอกว่าพร้อมให้การบินไทยเป็นผู้นำ…”
3 สิ่งต้องจัดการเพื่อทางรอดการบินไทย
ด้าน สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแนวคิดการพลิกฟื้นการบินไทยท่ามกลางสภาวะวิกฤติว่า หลังจากที่เขาเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพร้อมผลประกอบการของการบินไทยอย่างละเอียด โดยยอมรับว่า เป็นงานหินพอสมควร แต่ก็ไม่ยากนักที่จะทำให้การบินไทยรอดจากปากเหว
“จากการศึกษาและวิเคราะห์ ผมไม่ค่อยหนักใจเรื่องการตลาด เรื่องเครื่องบินเก่า หรือระดับผู้โดยสารซึ่งอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าไม่เลว ราคาค่าตั๋วโดยสารก็อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ไม่สูงจนเกินไป แต่ปัญหาของการบินไทยส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ต้นทุน ค่าซ่อม ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการบางโซนที่ถูกละเลย….”
การที่จะทำให้การบินไทยพ้นจากปากเหวได้ สุเมธบอกว่าต้องจัดการ 3 สิ่งให้อยู่ นั่นคือ การด้อยค่าเครื่องบินเก่า อัตราแลกเปลี่ยน และน้ำมัน ซึ่งเขาย้ำว่าถ้าจัดการทั้ง 3 สิ่งนี้ได้ การบินไทยจะมีกำไรทันที ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก เป็นสถานการณ์ที่เรียกว่า Uncontrollable Manageable ควบคุมไม่ได้ แต่จัดการได้
เพิ่มฝูงบิน รองรับแผนสู่สายการบินพรีเมียม
สำหรับการซื้อเครื่องบินเพิ่ม สุเมธกล่าวว่า ต้องทำแผนเกี่ยวกับสถานการณ์เงินเพื่อให้มั่นใจว่ามีกำลังพอที่จะจ่ายได้ โดยอิงตามกรอบมติ ครม. เมื่อเมษายน 2554 ที่ให้จัดซื้อทั้งหมด 75 ลำ ซึ่งได้จัดซื้อก่อนหน้าไปแล้ว 37 ลำ เหลือที่ต้องจัดหาใหม่อีก 38 ลำ เพื่อทดแทนลำเก่าที่จะต้องปลดระวาง 31 ลำ และต้องหาเพิ่มอีก 7 ลำ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ฝูงบิน รวมเป็นเงินลงทุนกว่า 2,167 แสนล้านบาท โดยจะส่งเรื่องเสนอ ครม.พิจารณา
สุเมธกล่าวว่า หากการบินไทยดำเนินการจัดหาเครื่องบินได้ 38 ลำตามแผน จะทำให้การบินไทยมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 101 ลำในปัจจุบันเป็น 110 ลำ ซึ่งนอกจากจะช่วยรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มมากขึ้น ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการก้าวสู่การเป็นสายการบินพรีเมียมได้อีกด้วย
ดันครัวการบินไทยสร้างรายได้
สำหรับการทิศทางการดำเนินธุรกิจของการบินไทยในปี 2562 นี้ สุเมธมองว่า การแข่งขันยังคงรุนแรงไม่ต่างจากปีก่อนๆ อีกทั้งอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้การบินไทยต้องหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักอย่างธุรกิจการบิน
“ปัจจุบันรายได้ของการบินไทยราว 20 เปอร์เซ็นต์มาจากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน ดังนั้น ในอนาคต การบินไทยจะมุ่งเน้นขยายธุรกิจที่ไม่ใช่การบินให้มากขึ้น โดยเฉพาะ “ครัวการบินไทย” ที่ทำอาหารขายให้กับสายการบินอื่นด้วย ขณะนี้ก็เริ่มเอาเบเกอรี่ พัฟ แอนด์ พาย เข้าไปวางขายที่ร้านกาแฟอเมซอน ได้รับการตอบรับดีมาก โดยปีที่แล้วทำรายได้ 8,000 ล้านบาท กำไร 2,000 ล้านบาท”
ต้องติดตามและเอาใจช่วยกันว่าแนวคิดของ 2 ผู้นำหนุ่มรุ่นใหม่ อย่าง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส และ สุเมธ ดำรงชัยธรรม จะเรียกความเชื่อมั่นและชื่อเสียงการบินไทยกลับมาได้หรือไม่ และที่สำคัญ จะพาการบินไทยฝ่ามรสุมไปอย่างราบรื่นเพื่อตอบสนองโลกยุคใหม่ตามที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่
Category: