ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายท่านจะคุ้นเคยกับคำว่า “โลกร้อน” และ “ปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก” เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดภัยธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วมใหญ่ คลื่นความร้อนที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้นทุกปี

ล่าสุด คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งทำงานในส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ  ได้ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกต้องช่วยกันยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส มิฉะนั้นสถานการณ์ภัยธรรมชาติจะยิ่งรุนแรงขึ้นจนเกินเยียวยา

“เรา” ในฐานะประชาชนตัวเล็กๆ บนโลกใบนี้ จะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกร้อนได้หรือไม่ และจะช่วยได้อย่างไร ทีมงาน “Passiongen” จะพาไปไขคำตอบกับ คุณประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

 

ก๊าซเรือนกระจกมาจากไหน

ก๊าซเรือนกระจก เกิดจากฝีมือและกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งจากการใช้พลังงานที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวัน ได้แก่ พลังงานที่เรานำมาใช้ผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อน และการเดินทาง ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวมา มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่มีความสำคัญ

 

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปัจจุบัน

สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะทุกประเทศมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง มีความจำเป็นในการใช้พลังงานรูปแบบต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน โดยการตัดไม้ทำลายป่ามาสร้างเป็นเมือง สร้างโรงงานอุตสาหกรรม สร้างที่อยู่อาศัย ทำให้จำนวนต้นไม้ที่จะมาดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดน้อยลงไปด้วย

และเมื่อเร็วๆ นี้ หลายคนอาจจะได้เห็นข่าวจากองค์การสหประชาชาติและจากนักวิทยาศาสตร์หลายหน่วยงาน แสดงให้เห็นว่า หากเราไม่สามารถควบคุมและปล่อยให้โลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 – 2 องศาภายในปี 2643 ก็จะเกิดสถานการณ์รุนแรงจนเราไม่สามารถจะแก้ไขได้ ค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนที่เราจะเข้าไปช่วยปรับปรุงและแก้ไขสถานการณ์ก็จะเพิ่มมากขึ้น สถานะความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะลำบาก

ในส่วนของโรคภัยที่เคยสูญหายไปก็จะกลับมาใหม่อย่างเช่น โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก ก็กลับมารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ภาวะแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือภาพคลื่นความร้อนที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ เมืองก็เกิดขึ้น ทำให้ประชาชนเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

 

ประเทศไทยกับการจัดการปัญหาก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ  0.9-1%  ลำดับที่ 20 ของโลก ซึ่งเรามีนโยบายและเป้าหมายชัดเจนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 24 ล้านตันภายในปี 2563 และเป็นที่น่ายินดีว่า จากการติดตามประเมินผล พบว่าในปี 2558-59 ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 45 ล้านตันจากภาคคมนาคมและภาคขนส่ง สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้

แต่เรามีเป้าหมายสำคัญกว่าคือ ประเทศไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 111 ล้านตัน  ในปี 2573 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ในที่ประชุมสมัชชารัฐภาคี ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศา

 

ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่ใช่ผู้ร้าย

ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย ผู้ที่มีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากคือ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอย่ามองว่าเขาเป็นผู้ร้าย แต่เพราะความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยังมีอยู่ ที่สำคัญคือ ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายบังคับ เราเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันและทำด้วยความสมัครใจ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าในหลายๆ หน่วยงานเต็มใจร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

เรามีกิจกรรมที่ได้รับการยอมรับคือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคความสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) เป็นโครงการที่ อบก. พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ โดยปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ รวม 200 แห่งเข้าร่วมโครงการฯ และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงปีละ 3 ล้านตันคาร์บอนฯ

 

เราจะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากกิจกรรมการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้นการลดการใช้พลังงาน ก็จะมีส่วนช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้

เริ่มต้นง่ายๆ จากตัวเราเอง ตื่นนอนตอนเช้า อาบน้ำแปรงฟัน เราก็ควรประหยัดน้ำ เพราะในกระบวนการผลิตน้ำประปา มีการใช้พลังงาน การใช้ชีวิตประจำวันของเรา ผูกพันกับการใช้พลังงานมาก การใช้โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ท เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ พวกนี้จะใช้ได้ ก็ต้องมีพลังงาน มีไฟฟ้า ถ้าเราช่วยกันและใช้เท่าที่จำเป็น ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

นอกจากนี้ เราสามารถลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกอย่างง่ายๆ ได้อีกทาง ด้วยการลดการสร้างขยะ และคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เนื่องจากพบว่าขยะและของเสียที่ได้รับการจัดการไม่ถูกวิธีและไม่สมบูรณ์ จะมีการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การลดการสร้างขยะเพิ่ม และการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจึงมีความสำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน ยังช่วยลดการเกิดโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย

Passion in this story