ตัวเลขการสำรวจปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศไทย โดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า พ.ศ.2558 มีขยะประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี คิดเป็นปริมาณขยะ 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในจำนวนนี้มีปริมาณขยะตกค้างเพราะไม่สามารถกำจัดอย่างถูกวิธีถึง 23 % หรือประมาณ 6.22 ล้านตันต่อปี

ที่สำคัญอีก 10% ของขยะที่ตกค้างเกิดจากการกำจัดไม่ถูกวิธีและรั่วไหลลงสู่ท้องทะเล หรือ 50,000 – 60,000 ตันต่อปี และประเมินได้ว่าในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกในท้องทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น ซึ่งขยะมากมายขนาดนี้ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เราทุกคนกำลังเผชิญเนื่องจากขยะเหล่านี้นำไปสู่ปัญหามลพิษทางทะเลและชายฝั่งซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ขยะเป็นสาหตุหลักที่ทำลายแหล่งทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทย ไม่น้อยไปกว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ของมลพิษทางทะเล (Group of Expert on the Scientific Aspects of Marine Pollution: (GESAMP) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ยืนยัน ว่า “ขยะทะเล” มิได้เกิดจากการทิ้งขยะตามชายหาดของนักท่องเที่ยวเท่านั้นมีเพียง 20% ของ “ขยะทะเล” เกิดจากกิจกรรมในทะเล แต่ 80% เกิดจากกิจกรรมบนบกเช่น การทิ้งขยะตามบ้านเรือนแหล่งชุมชน การประกอบอาชีพทางทะเลรวมถึงการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

“ขยะทะเล” เหล่านี้ทำลายความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลและบริเวณชายฝั่งการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งให้มีความสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยป่าชายเลน (Mangroves), หญ้าทะเล (Sea Grass) และที่ลุ่มน้ำเค็ม (Salt Marshes) ซึ่งหญ้าทะเลไม่เพียงทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตขั้นต้นของห่วงโซ่อาหาร แต่หญ้าทะเลซึ่งมีพื้นที่เพียงร้อยละ 0.2 ของพื้นที่ป่าบกยังสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 83,000 ตันคาร์บอนต่อตารางกิโลเมตรต่อปี

หาก “หญ้าทะเล” ถูกทำลายโดย “ขยะทะเล” ย่อมส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ ทรัพยากรชายฝั่งต่าง ๆ รวมถึง “บลู คาร์บอน” พื้นที่เก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

“ขยะทะเล” ทำลายความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างป่าชายเลน หญ้าทะเล และที่ลุ่มน้ำเค็ม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตบลูคาร์บอนและยังทำลายแนวปะการัง

“ขยะทะเล” ทำให้สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ต้องตายหรือบาดเจ็บจากการกินถุงพลาสติกปิดกั้นทางเดินหายใจจนตาย หรือติดอยู่ในเศษแหอวน เชือก

ส่วนใหญ่ “ขยะทะเล” ที่พบเป็นพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน

ทางออกในการลดปัญหาขยะที่สามารถทำได้และง่ายที่สุดจึงสามารถเริ่มได้ที่ตัวเราทุกคนนั่นคือเพียงช่วยกันลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกลง และรับผิดชอบขยะของแต่ละคน ทิ้งให้ถูกที่ กำจัดให้ถูกวิธี

ร่วมรักษาท้องทะเลและชายฝั่งของเราไปพร้อมกับ Blue Carbon Society เพื่อท้องทะเลสีน้ำเงินของพวกเรากันเถอะ คลิกเลยที่ www.bluecarbonsociety.org

Passion in this story