อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยประกาศให้เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต ที่จะขับเคลื่อนให้เกิด New S Curve ที่ผลักดันประเทศให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนั้นได้รวมตัวขับเคลื่อนในรูปแบบของสมาคม ภายใต้ชื่อ สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ โดยมี พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ดำรงตำแหน่งเป็น นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ

.

เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ บุรินทร์เจอนี่ ได้รับเกียรติให้ร่วมสัมภาษณ์ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อรับทราบถึงทิศทางของอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ และการผลักดันอุตสหากรรมให้เป็น 1 ใน 12 New S Curve ของประเทศ

.

Burin : อุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีโอกาสอย่างไรบ้าง

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ :    จริงโอกาสมีมากมาย เพราะความต้องการภายในประเทศเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นภูมิคุ้มกันของชาติบ้านเมืองเป็นความต้องการที่มีมายาวนาน แต่ละปีเราใช้จ่ายเงินในการจัดหาอาวุธจากต่างประเทศค่อนข้างมาก และเงินตรงนี้ไหลออกไปหมดเลย ดังนั้นโอกาสตรงนี้ควรจะกลับมาเป็นของคนไทย ขีดความสามารถในการผลิต ในการสร้างนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เป็นปัญญาไทย มีในเมืองไทยมายนาวนาน แต่โอกาสมันปิด

.

วันนี้เราจะเปิดช่องเพื่อหาโอกาสว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2566 เป็นต้นไปโอกาสเหล่านี้ควรกลับมาเป็นของอุตสาหกรรมภายในประเทศ งบประมาณปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ควรถูกนำมาใช้จ่ายกับอุตาสาหกรรมภายในประเทศมากขึ้น แต่เราไม่ได้ปิดกั้นคนอื่นและบริษัทจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติ นักลงทุน สามารถเข้ามาร่วมมือในวิธีการที่กำหนดขึ้นได้ เพื่อมาช่วยกันเสริมสร้างอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง เราไม่ได้ต้องการที่จะห้ามหรือทำลายกัน เรามีโอกาสที่จะต้องมาสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อพยุงโลกใบนี้ไว้ให้เกิดความสงบสุข และทุกอย่างจะเป็นวิถีแห่งความเป็นชาติ และมีขีดความสามารถในการปกป้องชาติบ้านเมืองของเราเอง

.

Burin :  แนวทางผลักดันให้อุตสากกรรมนี้เติบโตควรจะทำอย่างไรบ้างครับ

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ : จริงๆ ศักยภาพของกลุ่มงานของพวกเรา เรามี 12 กลุ่มงานนะครับ 12 คลัสเตอร์และมี 50 กว่าบริษัท ทุกบริษัทมีขีดความสามารถหมดเลย แต่เรายังขาดหัวหน้าวง หมายความว่าเครื่องดนตรีทุกชิ้น 50 กว่าชิ้น พร้อมที่จะบรรเลงเป็นวงออเคสตร้า และเรากำลังหาวิธีการว่าทำอย่างไร? ทำอย่างไรถึงถึงจะจับทั้งหมด 50 กว่าบริษัทมาผนึกกำลังและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อชาติบ้านเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นมิติของทางบก ทางเรือ ทางอากาศ และทางอวกาศ ซึ่งมิติทั้ง 4 มิติ และมิติที่ 5 คือไซเบอร์ ทั้ง  5 มิติ สามารถที่จะหลอมรวม บริษัททั้งหลายคิดค้นนวัตกรรม ถ้าจับมาผสมกันก็คือเครื่องมือป้องกันประเทศ เป็นเครื่องมือที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศได้อย่างยิ่งใหญ่

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ

Burin :  การผลักดันส่งเสริมต้องทำอย่างไร ภาครัฐต้องมีส่วนร่วมอย่างไร

.

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ :    เราประชุมกันหลายครั้งแล้ว ขีดความสามารถของเรามี แต่การบริโภคภายในประเทศไม่มี การบริโภคต่างประเทศมีแต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เราอยากให้กลไกรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน ตั้งแต่การวิจัยเต็มรูปแบบ ซึ่งใช้เงินไม่เยอะ แต่ขอให้มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง

.

หลังจากนั้น ในกระบวนการของการผลิต การสร้าง เรามีทรัพยากรในเมืองไทยมากมาย เราสามารถที่จะประสานงานเพื่อดึงออกมาใช้ ทั้งภาคราชการ ภาคประชาชน บรรดาเอกชนและผู้ประกอบการทั้งหลายสามารถมาใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ภาคที่สองคือ ภาคการผลิตก็จะสำเร็จ

.

ภาคที่สาม คือเรื่องของการใช้งาน กองทัพต้องใช้ก่อน ประเทศชาติบ้านเมือง เราต้องการภูมิคุ้มกัน เราต้องการอาวุธยุโธปกรณ์ที่แม่นยำและมีความฉลาด ตอนนี้เรามีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าถ้าเราใช้ในประเทศ ก็จะเป็นต้นแบบ ตัวแบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวต่างชาติที่จะซื้อนวัตกรรมของไทยเอาไปใช้ในภารกิจของเขา ตรงนี้เป็นเรื่องราวสำคัญมากทีเดียว การส่งออกกับการใช้ภายในประเทศเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกัน เพราะอย่างหลายชาติที่เราไปซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์เขามา เราก็จำเป็นต้องมีการฝึก ซึ่งในการฝึกก็ต้องอาศัยกองทัพหรือรัฐบาลของประเทศเจ้าของนวัตกรรม หรือเจ้าของอาวุธนั้นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย

.

ฉะนั้นถ้าเราสามารถที่จะบูรณาการเรื่องของการผลิต และเรื่องของการใช้งานได้ ตรงนี้เราจะประสบความสำเร็จ จะเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ของประเทศไทย แล้วเราสามารถที่จะบูสเรื่องของ 12 กลุ่มงาน 54 บริษัทให้เติบโต ก้าวขึ้นไปข้างหน้าได้ มูลค่าของอาวุธ ยุทโธปกรณ์ทั่วโลกคิดว่าสำคัญ แต่เรื่องของมูลค่า ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัจจัยความสำเร็จแต่เพียงอย่างเดียว ภูมิคุ้มกันที่เราสมควรที่จะต้องมีเพื่อป้องกันประเทศเราเองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน หากมองดูความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก สงครามต่างๆ ไม่มีประเทศไหนที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยปราศจากภูมิคุ้มกันที่อยู่ในตัวของตัวเอง

.

Burin :  สิ่งที่อยากเห็น เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศคืออะไร

.

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ :    จะต้องให้อาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพเป็นของที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ตำแหน่งงานต้องเกิดในประเทศไทย รายได้บนตำแหน่งงานต้องเกิดขึ้นกับคนไทย อันนี้คือความยั่งยืน การที่เราจะมีทุกอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ได้ เราต้องผนึกกำลังกันทั้งหมด ตั้งแต่ภาคประชาชนไปจนถึงรัฐบาล ภาครัฐทั้งหมดต้องหันมาคุยกัน ในกระทรวงต่างๆ กฎหมายต่างๆ อำนาจต่างๆ ทุกสิ่งทุกอย่างหากนำมาหลอมรวมกันได้ ความสำเร็จตรงนี้เกิดขึ้นแน่นอน แล้วพลังอันนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน

.

“พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ พลังปัญญาไทย” คนไทยมีศักยภาพและมีขีดความสามารถ ถ้าเราได้เอามาหลอมรวม นี่คือภาพที่อยากจะเห็นว่า สมควรต้องเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยไม่เคยแพ้ใคร ยิ่งใหญ่ไม่เคยแพ้ใคร

Passion in this story