หนึ่งในทางออกจากกับดักความยากจนของเกษตรกร คือ การทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลากหลายชนิด เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของราคาตลาดสินค้าเกษตร โจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ แนะวิธีการทำเกษตรต้องเน้นปลูกพืชผสมผสาน จะต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมี และการปลูกพืชผสมผสานทำให้ พออยู่ พอกิน มีเหลือขายสร้างรายได้ แม้จะไม่ร่ำรวยมากแต่ไม่ขัดสน

.

แนวคิดของเกษตรธรรมชาติ และเกษตรผสมผสาน มีเกษตรกรและนักคิดหลายรายที่มีแนวคิดที่โดดเด่นน่าสนใจ และเป็นแบบอย่างให้เกษตรกร ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ โจน จันได ชายหนุ่มที่ทุกคน ทุกคนรู้จักเขาในฐานะของผู้บุกเบิกการสร้างบ้านดินยุคใหม่ในเมืองไทย แต่มีคนไม่มากนักที่รู้ว่า โจน จันได เป็นนักเกษตรอินทรีย์ที่ทำเกษตรธรรมชาติ แบบผสมผสาน เน้นการพึ่งพาตนเอง และสนใจเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์แท้ของพืช เป็นเป็นหนึ่งในนักคิดที่มองว่าการเกษตรต้องเป็นเรื่องง่าย ทำง่ายๆ แต่ให้ผลลัพธ์ที่ดี

.

โจน จันได เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ทำเกษตรภายใต้แนวคิดของการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำหลายอย่างในพื้นที่เดียวกัน ทั้งปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกพืชสวน ไม้ผล รวมถึงการปลูกป่า โจน จันได มีมุมมองว่า การทำเกษตรจะต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย ถ้าไม่ง่ายนั่นคือการเกษตรที่ผิด และหากทำเกษตรได้ถูกต้องแล้ว จะมีพืชผักไว้เพียงพอสำหรับรับประสานอย่างแน่นอน และมีส่วนที่เหลือที่สามารถนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ได้อย่างแน่นอน

 .

โจน จันได มองว่า สาเหตุที่เกษตรกร ล้มเหลวในการทำการเกษตรนั้น เป็นเพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติที่ดีพอ เพราะธรรมชาติ จะดูแลรักษาสมดุลตัวเองอยู่เสมอ เช่น ถ้าเราทำการเกษตรแบบปลูกพืช ชนิดเดียวกันในปริมาณมาก ก็มักจะถูกโรคหรือแมลงโจมตีเป็นธรรมดา เพราะธรรมชาติเสียสมดุล ขาดการพึ่งพาอาศัยกัน สุดท้ายก็ต้องใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงเข้ามาควบคุม ซึ่งจะคุมได้ในระยะแรก แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นไม่จบสิ้นและต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงมากขึ้นทุกปี
.

แต่หากทำเกษตรให้เป็นเรื่องง่าย รู้จัก เข้าใจธรรมชาติ เรื่องของดิน ของน้ำ ของสภาพภูมิอากาศ และเข้าใจพืชแต่ละชนิด หากเข้าใจถูกต้องจะรู้ว่าควรพัฒนาที่ดินผืนนั้นอย่างไร จึงจะเหมาะสม ทำอย่างไรให้เพาะปลูกพืชได้และปลูกพืชอะไรจะให้ผลผลิตที่ดี ปลูกพืชที่ชอบและรับประทานเน้นที่ความพออยู่พอกินก่อน จากนั้นจึงขยับขยายไปปลูกพืชอื่น แต่ควรจะเพาะปลูกแบบผสาน ปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะลดปัญหาโรคและแมลงได้มาก

.

โจน จันได กล่าวว่า สาเหตุที่เกษตรกรชาวนายังคงยากจนอยู่ เพราะราคาขายข้าวต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพาะปลูกไปก็ขาดทุน ยังไม่นับความเสี่ยงอื่นๆ เช่นภัยแล้งน้ำท่วม ชาวนาจึงควรคิดทำเกษตรแบบอื่นควบคู่ไปด้วย เช่นปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น พืชตระกูลถั่วและงา ที่เพาะปลูกนอกฤดูทำนาได้ และให้ผลผลิตที่ดี ราคาขายต่อกิโลกรัมก็ดีกว่าขึ้น เป็นต้น

.

โจน จันได เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ทำเกษตรภายใต้แนวคิดของการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกเพื่อออกจากกับดักความยากจน ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งค้นคว้าหาข้อมูลให้เลือกมากมาย อาทิเช่น สถานีวิจัยลำตะคอง ศูนย์อนุรักษ์แมลงและพืชพันธ์เขตร้อน ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หรืออาจจะหาข้อมูลจากเกษตรจังหวัด และกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงการหาค้นคว้าหาข้อมูลผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรมีชีวิตวความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

Passion in this story