เผยสถิติ 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกถูกกระทำรุนแรง หญิงไทย 44% ถูกกระทำจากคนในครอบครัว ส่วนแรงงานหญิงข้ามชาติถูกทอดทิ้งในสถานการณ์โควิด-19 โครงการปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair) UN WOMEN-ILO กระตุ้นภาคเอกชนตื่นตัวออกนโยบายต่อต้านความรุนแรง และมาตรฐานปฏิบัติต่อสตรีในที่ทำงาน ตามอนุสัญญา CEDAW และ ILO 190 รวมถึงเข้าร่วมประกวด WEP Awards เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้จัดงานสัมมนา “The Era of Equality?” ถึงยุคแห่งความเท่าเทียม? เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง ความเสมอภาคและความเท่าเทียม โดยได้วิทยากรรับเชิญจากโครงการปลอดภัยและยุติธรรม นำโดย UN WOMEN ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและสหประชาชาติ ผ่านการทำงานของ UN Women, ILO และ UNODC มาร่วมพูดคุยภายในงาน

 

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair) องค์กรเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ  และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ( UN WOMEN)  กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลกร้ายแรงกว่าที่คิดกันมาก 1 ใน 3 ผู้หญิงทั่วโลกเคยประสบความรุนแรงในชีวิต  สำหรับประเทศไทย  44% ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือจากคนที่ตนรู้จัก โดยกรณีการถูกล่วงละเมิดนั้น 87% ของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนอาจจะไม่ได้ขอความช่วยเหลือใดๆ เลย โดยสาเหตุของความรุนแรงเกิดจากความมีอคติต่อผู้หญิง และระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจหลัก และสำหรับแรงงานหญิงข้ามชาติยิ่งไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือเพราะอคติต่อแรงงานข้ามชาติและสถานภาพการเข้าเมือง

 

ความรุนแรงต่อผู้หญิง เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงมักไม่กล้าขอความช่วยเหลือ แต่สำหรับแรงงานหญิงข้ามชาติ ยิ่งประสบความยากลำบาก เพราะอคติของเจ้าหน้าที่และนายจ้างที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 แรงงานข้ามชาติมักมีสถานภาพที่ด้อยกว่า บางคนอาจไม่มีสถานภาพเข้าเมืองที่ถูกต้อง แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญา ILO 190 แต่ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบซึ่ง (CEDAW) จึงต้องยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุที่เป็นแรงงานข้ามชาติหรือมีสถานภาพใดก็ตาม”

 

“ในส่วนของเอกชน อาจจะเริ่มต้นจากการอบรมนักเรียน นักศึกษา อบรมพนักงานในบริษัทฯ ให้ตระหนักถึงเรื่องการใช้ความรุนแรง ขณะที่ภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายการยุติความรุนแรงในที่งานและออกระเบียบปฏิบัติที่มีความเท่าเทียม มีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ และช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรง โครงการ Safe and Fair ได้ฝึกอบรมเยาวชนและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2563 ให้มีความรู้ (knowledge) ความปรารถนา (desire) และความสามารถ (capacity) ที่จะยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงรวมถึงแรงงานหญิงข้ามชาติ อันจะนำไปสู่โลกของการพัฒนาหลังจาก COVID-19 และการไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังตามกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ” กรวิไล กล่าว

กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม

มณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการสื่อสารองค์กร และพัฒนาสัมพันธ์ UN Womenสำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ความรุนแรงต่อเพศหญิงเกิดจากรากเหง้าของความไม่เท่าเทียม แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีส่วนส่งเสริมความรุนแรงให้มากขึ้น ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาวะสงคราม และความขัดแย้งต่างๆ ขณะที่สื่อมวลชนเองก็มีบทบาทส่งเสริมให้เกิดการเหยียดเพศ เหมารวมด้วยการฉายภาพซ้ำ ตอกย้ำอคติทางเพศ เช่น ละครที่ยกผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจ มีผู้หญิงเป็นบริวาร เช่น ผู้หญิงเป็นคนใช้ ทำงานในครัว หรือดูแลคนแก่ ผู้ป่วย หรือเป็นเพียงเครื่องสนองอารมณ์ทางเพศ อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนในปัจจุบันก็ได้ตระหนักถึงเรื่องความรุนแรงทางเพศมากขึ้น เช่น กรณีการนำผู้เสียหายมาออกสื่อ ทำการประชาสัมพันธ์เพื่อเหตุผลทางการเมือง โดยสื่อมวลชนเริ่มตระหนักเรื่องสิทธิของผู้เสียหาย และมีแนวโน้มเสนอเนื้อหาข่าวโดยปิดลับข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายมากขึ้น มุ่งเน้นการเสนอข่าวผู้กระทำผิด หรือติดตามความคืบหน้าของคดีในกระบวนการยุติธรรมมากกว่ามุ่งเสนอข้อมูลผู้เสียหาย ดังเช่น ปรากฏการณ์ #MetooThailand ล่าสุด ที่สื่อและสาธารณชนร่วมกันประณามการกระทำ และตรวจสอบจริยธรรมผู้กระทำผิดที่อาจมีอิทธิพล โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ยังมีช่องว่างให้มีกระบวนการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในการรายงานข่าว และนำเสนอข่าวในกองบรรณาธิการที่มีความอ่อนไหวทางเพศ (gender lens) ในประเทศไทย

 

“ปัจจุบัน UN WOMEN กำลังผลักดันแนวทางการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่าน รางวัล Women’s Empowerment Principles Awards (WEPs Awards) ซึ่งมีบริษัทไทยหลายแห่งที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดการคัดเลือกรางวัลระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนี้  จึงอยากเชิญชวนให้ธุรกิจไทยเข้าร่วมประกวดหรือร่วมประกาศสัตยาบรรณในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อให้ผู้หญิงมีพื้นที่ในสังคมเพิ่มมากขึ้น” มณฑิรา กล่าวเสริมในประเด็นการทำงานผลักดันนโยบายความเสมอภาคทางเพศในกลุ่มภาคีภาคเอกชน

 

มณฑิรา นาควิเชียร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ ประธานหลักสูตรฯ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า งานสัมมนา “The Era of Equality” ถึงยุคแห่งความเท่าเทียม? เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักคึกษาได้ฝึกปฏิบัติและได้ความรู้จากวิทยากร ซึ่ง “ความเท่าเทียม” เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทยต้องตระหนักรู้ เข้าใจปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ไข เพื่อให้ผู้หญิงในสังคมไทยได้รับความเสมอภาคที่เท่าเทียมกับผู้ชาย มีความปลอดภัย และได้รับโอกาสต่างๆ ที่เท่าเทียมกัน จึงหวังว่างานสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สังคมไทย เกิดความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับผู้หญิงมากขึ้น

Passion in this story