ทุกวันนี้ นักวิจัยหลาย ๆ หน่วยงานพยายามคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และเลือกใช้วัสดุทดแทนมาช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม  มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

อาหารปลารักษ์โลก ปลาสมบูรณ์ สิ่งแวดล้อมสมดุล

  ปลานิลเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงปลานิลในปี 2560 มีปริมาณเกือบ 2 แสนตัน โดยการเพาะเลี้ยงปลานิลยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก แต่ปัญหาสำคัญ คือวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้น จึงมีการศึกษา เพื่อนำพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน

    สาหร่ายนับเป็นวัตถุดิบชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาผสมในอาหารปลา เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต เส้นใย เถ้า แร่ธาตุและวิตามิน นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มสารประกอบฟีโนลิกที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง 

   อ.ดร.คณาธิป คำเพราะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก จึงทำการทดลองโดยนำสาหร่ายเตา ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และเป็นผลพลอยได้จากการบำบัดคุณภาพน้ำในการเลี้ยงปลานิลมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

   ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาและได้ทำการทดลองในครั้งนี้ พบว่า การเสริมสารสกัดจากสาหร่ายเตาในอาหารสำหรับเลี้ยงปลานิล เป็นระยะเวลา 10 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายของปลานิล โดยเฉพาะในปลานิลชุดการทดลองที่ได้รับอาหารเสริมสารสกัดสาหร่าย 15% มีน้ำหนักตัว และความยาวที่เพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตต่อวัน และอัตราการเจริญเติบโตจำเพาะมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชุดการทดลองอื่นๆ 

    ส่วนในด้านของการสะสมสารต้านอนุมูลอิสระ พบว่า ชุดการทดลองที่อาหารได้เสริมสารสกัดสาหร่ายเตา 15% มีสารต้านอนุมูลอิสระสะสมในปลามากที่สุด

   ความสำเร็จของผลงานวิจัยนี้ คือ สามารถลดการใช้สารเคมีเพื่อเป็นวัตถุดิบในอาหารปลานิล ลดต้นทุนค่าอาหารปลานิลได้ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตจากสาหร่ายเตา รวมถึงนำข้อค้นพบจากงานวิจัยที่บูรณาการแล้วไปส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำและส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายเตาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรได้

   อย่างไรตาม ชุมชนที่มีอาชีพเลี้ยงปลาสามารถนำข้อค้นพบจากงานวิจัยไปประยุกต์ใช้เพื่อผลิตอาหารปลาที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารในการเพาะเลี้ยงปลา ทำให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะหาทีมวิจัยเสริมเกี่ยวกับการตลาด เพื่อนำความรู้การตลาด มาพัฒนาต่อยอดสาหร่ายเตา เป็นผลิตภัณฑ์แพคเกจอาหารปลา และอาจจะต่อยอดทำอาหารเสริมสำหรับคนด้วย

โฟมกันกระแทกจากสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง

โฟมพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่ทำจากสไตรีน ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายได้และยากต่อการรีไซเคิล แต่จะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนกลายเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลที่กินพลาสติกเหล่านี้เข้าไป

   แต่ตอนนี้บริษัทแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียได้พัฒนาโฟมพลาสติกที่ทำจากไคติน ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

   ไคติน เป็นสารที่พบในเปลือกของสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู กุ้ง และกุ้งก้ามกราม ซึ่งมีความแตกต่างจากโฟมพลาสติกตรงที่สามารถย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ

   จอห์น เฟล์ทส (John Felts) ซึ่งเป็น CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Cruz Foam กล่าวว่าสิ่งที่จะสามารถทำได้ก็คือ การนำวัสดุนั้นมาพัฒนาในกระบวนการซึ่งทำให้ได้โครงสร้างของโฟมที่มีคุณสมบัติสูง

    วัสดุดังกล่าวนี้มีน้ำหนักเบาแต่ก็แข็งแรงพอที่จะปกป้องไม่เพียงแต่สิ่งของที่มีความเปราะบาง เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัตถุที่หนักและมีราคาแพงอย่างเช่น โทรทัศน์ ได้อีกด้วย

   ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เฟล์ทสและหุ้นส่วนของเขาคิดนวัตกรรมนี้ขึ้นมาก็คือความรักในมหาสมุทร เพราะพวกเขาเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่น จึงไม่อยากเห็นมลภาวะจากขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลนี้เข้ามาสู่มหาสมุทรทุกๆ ปี และเชื่อว่าควรจะต้องมีทางออกที่ดีให้กับปัญหานี้

   ขณะนี้บริษัท Cruz Foam กำลังหารือกับธุรกิจอเมริกันหลายๆ แห่งเรื่องการจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยปกป้องสินค้าลักษณะต่างๆ และทางบริษัทหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถแทนที่พลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมทั้งหมดด้วยวัสดุจากธรรมชาติเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

Passion in this story