การระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไรนั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อมไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 อาจไม่ใช่สาเหตุหลักของการละเมิดสิทธิมนุษยชน
พบหน้ากากอนามัยในมูลเต่าทะเล
แม้สถานการณ์การโรคระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศจะเริ่มดีขึ้น แต่อีกปัญหาที่น่ากังวลคือการจัดการขยะติดเชื้อทั้งหลาย ล่าสุดนักวิจัยญี่ปุ่นพบหน้ากากอนามัยในอุจจาระของเต่าทะเลบริเวณชายฝั่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งสร้างความกังวลถึงการปนเปื้อนและทำลายระบบนิเวศทางทะเล
เรามักได้ยินข่าวว่าพบพลาสติกอยู่ในท้องของเต่าทะเล แต่เต่าทะเลตัวดังกล่าวถูกพบติดอยู่กับอวนบริเวณทะเลของจังหวัดอิวาเตะ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และภายหลังการตรวจสอบยืนยันว่าในอุจจาระของมันมีพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีนปนอยู่
ในงานวิจัยร่วมกันของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และมหาวิทยาลัยโตเกียวที่ตีพิมพ์ลงในวารสารระบบนิเวศทางทะเล Marine Pollution Bulletin ระบุว่า หน้ากากอนามัยที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีส่วนผสมของสารชนิดหนึ่ง ที่ทำให้มันคงตัวแม้ถูกรังสี UV จากดวงอาทิตย์ ซึ่งในทางกลับกัน สารชนิดนี้สามารถเข้าไปในร่างกายเราและส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของอวัยวะต่างๆ ได้
ฮิเดชิกะ ทากาดะ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้สะท้อนว่า สิ่งมีชีวิตทางทะเลได้รับสารเคมีในขยะเข้าไปในร่างกาย ผ่านการย่อยสลายขยะพลาสติกโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้น เมื่อเรายังต้องใช้หน้ากากอนามัยอยู่ “เราต้องพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะให้ดีและเหมาะสมขึ้น”
ปัญหามลพิษเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าการระบาดของ COVID-19
เว็บไซต์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุว่า ปัญหามลพิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลง พลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในวงกว้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรอย่างน้อย 9 ล้านคนต่อปี
ขณะที่โควิด-19 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 5 ล้าน 9 แสนคน ซึ่งนายเดวิด บอยด์ ผู้แทนรายงานพิเศษของสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นความล้มเหลวของการจัดการมลภาวะและสารพิษ จึงเรียกร้องให้ทางการของประเทศต่างๆ มีคำสั่งห้ามใช้สารเคมีอันตรายบางชนิดในทันที
สำหรับรายงานฉบับนี้ จะมีการนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือน มี.ค. (2022) ซึ่งจะมีการประกาศให้ “สิ่งแวดล้อมสะอาด” เป็นสิทธิมนุษยชน พร้อมระบุข้อเรียกร้องห้ามใช้สารโพลีฟลูออโรอัลคิล (Polyfluoroalkyl) และเพอร์ฟลูออโรอัลคิล (Perfluoroalkyl) ซึ่งเป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่มีการนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนแบบไม่ติดกระทะ อุปกรณ์กีฬากันน้ำ เครื่องสำอาง บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทนต่อความมัน และโฟมดับเพลิง ที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้และมะเร็ง ทั้งถูกเรียกว่าเป็นสารเคมีที่จะคงอยู่ตลอดไปเพราะสลายตัวยาก
นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกการคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมว่าเป็นความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีคดีความเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ปัญหาขยะประเภทสารเคมียังถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ ซึ่งจะมีการเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้าน คล้ายกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
Category: