UPDATE ความคืบหน้าด้านสวัสดิภาพสัตว์ในไทย และไปดูนวัตกรรมรักษ์โลกที่จะมาช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนกันใน เจอนี่ UPDATE ครับ
มารีญา ฑูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกคนล่าสุด
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดตัว มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก โครงการ Food System ผู้หญิงเก่งที่ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะนางงามและผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง ตลอดจนมีจุดยืนที่ชัดเจนในการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์สัตว์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับบทบาทในฐานะทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกนั้น มารีญา จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงร่วมรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มในประเทศไทย ภายใต้โครงการ Food System พร้อมกันนี้ทางองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ปล่อยคลิปวีดีโอ ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนภาพความจริงว่าในแต่ละปี สัตว์ฟาร์มกว่าหมื่นล้านตัวต้องทุกข์ทรมานภายใต้การเลี้ยงที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมนำเสนอการบริโภคแบบ Less and Better Meat เป็นหนึ่งในทางออกเพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน
ซึ่งโครงการนี้คาดหวังให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างระบบอาหารใหม่ ให้มีความเมตตามากขึ้น และเป็นวิถีที่ยั่งยืนขึ้น เพราะเรื่องสวัสดิภาพสัตว์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด หากเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์ที่จะถูกนำมาเป็นอาหาร เช่น มีการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินความจำเป็น สุดท้ายแล้วยาเหล่านั้น ก็อาจจะส่งกระทบมาถึงผู้ที่บริโภคได้ นี่จึงเป็นการช่วยลดวิกฤติด้านของสุขภาพของมนุษย์จากเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และลดโอกาสในการอุบัติใหม่ของโรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ รวมถึงยังสามารถลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
คอนกรีตมีชีวิต รักษารอยแตกได้ด้วยตัวเอง
มาดูนวัตรกรรมคอนกรีต ‘มีชีวิต’ (Living Concrete) ที่ใช้ผลิตอิฐบล็อก ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (University of Colorado at Boulder) ได้นำแบคทีเรียมาผสมกับทรายและเจลาติน และใส่แคลเซียมลงไป โดยแบคทีเรียที่พวกเขาใช้จะเป็นไซยาโนแบคทีเรีย หรือ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ส่วนใหญ่พบในบ่อปลา
เมื่อแบคทีเรียเหล่านี้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับนำมาสร้างอาหารให้กับตัวเองในขั้นตอนของ Photosynthesis ส่วนผสมที่เหลือจะมีค่าเป็นกรดมากขึ้น และฟอร์มตัวเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต และทำให้คอนกรีตมีชีวิตนี้แข็งแรงมากขึ้น
เมื่อนำไปหล่อเป็นรูปและทำให้เย็นลง แบคทีเรียเหล่านี้จะเกาะกลุ่มกับส่วนผสมต่าง ๆ มีรูปร่างเหมือนเยลลี่ที่แข็งตัว
แต่สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับคอนกรีตนี้คือ พอนักวิทยาศาสตร์ลองเอาเศษจากคอนกรีตที่ขึ้นรูปแล้วมาแยกส่วน ทุบให้ละเอียด ละลาย และใส่ส่วนผสมใหม่ แบคทีเรียที่อยู่ในคอนกรีตอันเดิมก็โตใหม่ได้อีกถึง 3 รอบ
Category: