ในยุคดิจิตอลเช่นนี้นะครับ รูปแบบในการทำงานนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อก่อน แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้รูปแบบการทำงานมีความหยืดหยุ่นมากขึ้น อาชีพหนึ่งที่ดูจะเติบโตมาก ๆ ในยุคดิจิตอล ก็คืออาชีพฟรีแลนซ์ ที่เทคโนโลยีเอื้อให้ผู้คนสามารถใช้ความสามารถที่มีอยู่เลือกทำงานได้อย่างเหมาะสม และสามารถจัดการเวลาด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องตอกบัตรเข้าออฟฟิศตามเวลางานเหมือนปกติ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโควิด ที่มีการสำรวจกันว่าอาชีพฟรีแลนซ์กลายเป็นอาชีพยอดฮิตในตลาดแรงงาน เพราะสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ไม่ต้องออกไปข้างนอกเพื่อเสี่ยงติดโรค และเมื่อฟรีแลนซ์กลายเป็นอาชีพที่ใคร ๆ ก็ให้ความสนใจ พอดแคสต์ของเราในวันนี้ก็ไม่พลาดที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาชีพกันให้มากขึ้น

 

คลาสในวันนี้ เราจะไปพูดคุยกับ เป๊ปซี่-สุธาวัฒน์ ดงทอง หนึ่งในฟรีแลนซ์คิวทองที่เริ่มทำงานมาตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อไปร่วมกันสำรวจว่า ฟรีแลนซ์คืออะไร ทำไมเขาถึงเลือกมาเป็นฟรีแลนซ์ ปัญหาส่วนใหญ่ที่ฟรีแลนซ์ต้องพบเจอมีอะไรบ้าง ถ้าอยากจะเป็นฟรีแลนซ์ต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องมีทักษะอะไรบ้าง และเขามีคำแนะนำอย่างไรสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นในสายอาชีพฟรีแลนซ์

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย

 

 

“สวัสดีครับผม ชื่อเป๊ปซี่นะครับ สุธาวัฒน์ ดงทอง ปัจจุบันทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาประมาณ 2 ปีแล้วครับ เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ ทำหนังสือ และสอนพิเศษ”

 

อาชีพฟรีแลนซ์คืออะไร ทำอะไรบ้าง

“เราดูนิยามกันก่อนว่าฟรีแลนซ์มันคืออะไร สำหรับผมแล้วฟรีแลนซ์เป็นงานที่ทำโดยมีระยะเวลาจำกัด หมายถึงระยะเวลาในการจ้างงาน แล้วนายจ้างในสมัยนี้ส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า การจะจ้างคนมาทำงานโดยจ่ายเป็นเงินเดือน เป็นพนักงานบริษัท มันต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า เช่น ค่าประกันสังคม จ่ายเงินรายเดือน แต่การจ่ายให้ฟรีแลนซ์เป็นงาน ๆ ไป มันใช้เงินน้อยกว่าและจ่ายเป็นชิ้น ๆ ไป

 

ซึ่งทำให้อาชีพนี้ขยายครอบคลุมไปกว้างมาก ไม่ใช่แค่กราฟฟิกดีไซเนอร์ แต่อาจจะเป็นคนทำเว็บไซต์ การเขียนบทความ การสอนพิเศษ หรืออะไรก็ตาม ผมว่าสามารถนับเป็นฟรีแลนซ์ได้หมด สำหรับคนที่ไม่ได้สมัครเป็นพนักงานบริษัท ไม่ได้กินเงินเดือนประจำ จ่ายเงินก็คือจบ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วมันก็ดูคล้ายกับอาชีพรับจ้างทั่วไปอยู่ (หัวเราะ)”

 

ทำไมถึงเลือกมาเป็นฟรีแลนซ์

“ด้วยความที่ผมเป็นคนขี้เบื่อมาก เคยพยายามจะทำงานออฟฟิศ เคยฝึกงานในบริษัท แล้วเรารู้สึกว่าการเข้างานแปดครึ่ง เลิกงานห้าโมงเย็น มันช่างกินเวลาในชีวิตมาก เป็นอะไรที่เรารู้สึกว่า ทำไปแล้วทำต่อไปไม่ได้แน่ ๆ ตอนนั้นผมทำแค่สองเดือน ผมรู้สึกว่าผมหมดแรง ขี้เกียจตื่นเช้ามาก เพราะผมเป็นคนที่ตอนกลางวันจะไม่ค่อยมีแรง พอตะวันตกดินถึงจะเริ่มมีแรง เลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องเข้างาน อันคือโจทย์”

 

ข้อดีของการเป็นฟรีแลนซ์คืออะไร

“อย่างแรกผมรู้สึกว่าฟรีแลนซ์เนี่ย เราไม่ต้องเข้างานตามเวลาที่คนอื่นกำหนด เราสามารถทำตอนไหนก็ได้ที่อยากทำ เช่น เขาให้เวลาสามวัน เราจะเริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้นเลยก็ได้ หรือผ่านไปอีกสองวันค่อยไปทำ หรือไปทำตอนใกล้กำหนดส่งก็ได้ แต่ต้องส่งให้ทัน เพราะมันคือเครดิต ถ้าเราส่งไม่ทันอนาคตเขาอาจจะไม่อยากจ้างเราอีก

 

ข้อดีต่อมาคือ ผมรู้สึกว่างานหนึ่งของฟรีแลนซ์ เมื่อใช้เวลาเท่ากันแล้ว รู้สึกว่ามันได้เงินเร็วและเยอะกว่างานประจำ สมมุติว่าทำงานประจำสัปดาห์หนึ่ง พอคำนวณมาตกงานละไม่กี่พันเอง ซึ่งถ้าฟรีแลนซ์เราใช้เวลาในการทำน้อยกว่า แต่บางทีเงินที่ได้มา เราสามารถอยู่ได้ทั้งเดือนเลย

 

ผมว่าสองอย่างนี้น่าจะเป็นเหตุผลหลัก ก็คือเรื่องของเวลาที่เรากำหนดได้เอง และเงินก็เยอะกว่าเมื่อคำนวณต่อชิ้นงานแล้ว”

 

อะไรคือข้อเสียของการเป็นฟรีแลนซ์

“ผมคิดว่าอันนี้เป็นปัญหาที่หนักอกหนักใจของฟรีแลนซ์หลายคนเลย คือ ปัญหาเรื่องความมั่นคง พอเราทำงานชิ้นหนึ่งเสร็จปุ๊ป มันจะมีความรู้สึกว่า งานนี้จบแล้วกูจะเอายังไงต่อไปดี จะทำไงต่อไปกับชีวิต ถ้าเงินก้อนนี้จะหมดระหว่างนั้นจะมีงานอื่นเข้ามาไหม ซึ่งทำให้อาชีพฟรีแลนซ์นอกจากจะต้องมีทักษะในการหางานแล้ว อีกอย่างคือทักษะในการจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคล

 

ฟรีแลนซ์เป็นงานที่เงินมาเร็วมาก แต่ก็ไม่ได้ประกันว่าจะมีงานมาตลอด คือขาดความมั่นคง หรือแม้กระทั่งเรื่องประกันสังคมเองก็ตาม อย่างถ้าทำงานออฟฟิศ ทำงานในบริษัท ยังมีประกันสังคมม.33 แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างบริษัทอาจจะเป็นม.39 หรือม.40 ซึ่งเราต้องจ่ายคนเดียว ถ้าเป็นพนักงานบริษัท บริษัทจะช่วยจ่ายบ้างและรัฐบาลจ่ายสมทบเพิ่มให้ แต่ถ้าเราเป็นฟรีแลนซ์ เราจ่ายกับรัฐบาลสองคน โดยที่ไม่มีนายจ้างมาช่วยจ่าย อันนี้ก็เป็นข้อเสีย

 

อีกอย่างคือเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การทำบัตรเครดิต ก็ต้องใช้เอกสารเยอะกว่ามาก ๆ คือต้องวางแผนให้ดีกว่าพนักงานบริษัททั่วไปมาก และสมมุติถ้าเราจะกู้เงินมาซื้อบ้าน ซื้อรถ คนทั่วไปธนาคารอาจจะขอแค่สลิปเงินเดือนอะไรอย่างนี้ แต่ฟรีแลนซ์ต้องใช้เอกสาร ใช้หลักฐานเยอะกว่า ต้องโชว์รายได้ โชว์สเตทเมนท์ ทุกอย่างต้องโชว์ เงินในบัญชีที่เข้ามา มันมาจากไหน อันนี้คือความปวดหัวของฟรีแลนซ์

 

และเรื่องเวลามันก็เหมือนดาบสองคมนะ ฟรีแลนซ์อาจจะดูเหมือนฟรีตลอด ทำงานตอนไหนก็ได้ แต่จริง ๆ แล้วเรื่องการจัดการเวลาสำคัญมาก บางทีด้วยความที่ไม่มีใครบังคับ เราอาจจะสัญญากับลูกค้าว่า อาทิตย์หน้าเราจะส่งมอบงานเราให้ แต่ว่าเราเพลินไปกับการดูซีรีส์ เพลินการทำอะไรไม่รู้ ซึ่งพอถึงเวลาใกล้เราก็อาจจะต้องอดหลับอดนอน เพื่อทำงานให้เสร็จทันส่ง

 

หรือบางทีอาจจะไม่ใช่เราขี้เกียจ แต่เป็นช่วงที่งานเยอะมากเพราะเรารับงานเยอะ ลูกค้าคนนี้ก็จะเอา คนนั้นก็จะเอา งานมันมาพร้อมกัน ซึ่งเราไม่สามารถบอกลูกค้าได้ว่า ผมติดงานคนนี้อยู่นะครับ ผมขอเลื่อนส่งได้ไหม แต่งานออฟฟิศเนี่ยเรามีเจ้านายคนเดียว แต่การเป็นฟรีแลนซ์เราอาจจะมีเจ้านาย หรือคนว่าจ้างหลายคน ซึ่งถ้าทำงานออฟฟิศปกติ นายจ้างหรือหัวหน้างานเราจะรู้ว่า เรามีงานเท่าไหร่ในมือ แต่พอเป็นฟรีแลนซ์เราอาจจะมีคนจ้าง 3-4 คน พร้อมกัน ซึ่งเราต้องจัดการเวลาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในบางครั้งก็อาจจะต้องแลกกับสุขภาพในบางช่วง

 

อีกข้อคือเรื่องลูกค้าที่จ้างเรา ด้วยความที่ธรรมชาติของแต่ละคนต่างกันมาก เราไม่รู้ว่าเป็นใครที่มาจ้างเราบ้าง ซึ่งเขาก็จะมีการบรีฟก่อนว่า ต้องการงานลักษณะไหน ค่าจ้างเท่าไหร่ กำหนดส่งงาน แต่ส่วนใหญ่ที่เจอมาจะบรีฟไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาคิดว่าเราจะรู้ใจเขา แต่จริง ๆ แล้วไม่ตรงใจกับที่เขาต้องการ เราก็ต้องกลับมาแก้มันเสียเวลามาก เพราะการทำงานกับคนต้องใช้เวลาจูนเนอะ

 

แต่ส่วนใหญ่คนที่มาจ้างฟรีแลนซ์จะไม่ค่อยมีเวลาจูนกัน จะทำแค่ 2-3 งาน พอทำงานเข้ากันได้ก็เลิกจ้างไปแล้ว คือปัญหาที่ต้องเหนื่อยกับการดีลงานกับคนบ่อย ๆ นี่คือปัญหาของฟรีแลนซ์ที่ผมเจอ เรื่องบรีฟงานไม่ละเอียด หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องไฟล์ก็สำคัญมาก เช่น สมมติขอไฟล์โลโก้ไป แต่เขาใช้โทรศัพท์ถ่ายมาให้ มันก็มีหลายปัญหาแล้วแต่ด้วยว่า เป็นฟรีแลนซ์ประเภทไหน”

 

 

อาชีพฟรีแลนซ์เหมาะกับคนแบบไหน

“เหมาะกับคนที่ชอบเสี่ยง ต้องเป็นคนที่ชอบเสี่ยง ถ้าคุณเป็นขยันเนี่ย ฟรีแลนซ์ตอบโจทย์คุณ แต่ถ้าคุณเป็นคนขี้เกียจหรือเป็นคนไม่ค่อยชอบทำงาน ผมไม่ได้ว่าว่าคนทำงานประจำเป็นคนขี้เกียจนะ แต่คืองานประจำอาจจะเซฟต่อคุณมากกว่า เอื้อให้เราได้ขี้เกียจบ้าง เพราะฟรีแลนซ์ขี้เกียจ มันคือการที่คุณจะไม่มีรายได้เลย

 

หรืออาจจะเป็นคนที่ชอบทำงานให้เหมาะสมกับเงิน ได้เงินเท่าไหร่ก็ทำแค่นั้น แล้วก็เป็นคนที่มีความรู้เรื่องการจัดการเงิน เพราะอย่างที่บอกว่าฟรีแลนซ์หลายคน มีปัญหาเรื่องการเงิน คือเงินได้มาเร็วและก็อาจจะไปเร็วด้วยเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มาจะเป็นก้อนสุดท้ายหรือเปล่า ซึ่งเราก็ต้องบริหารเงินตรงนี้ให้ดี

 

เป็นคนที่มีภาระไม่เยอะ ผมรู้สึกว่ามันคืออย่างด้วยนะ ถ้าคุณเรียนจบมาแล้วคุณต้องรับผิดชอบชีวิตในบ้านหลายคน เป็นเสาหลักของครอบครัว ผมรู้สึกว่าฟรีแลนซ์ไม่ใช่อาชีพที่เหมาะสมกับคนแบบนั้น คนที่จบมาแล้วต้องดูแลคนจำนวนมาก นอกจากคุณจะมั่นใจว่างานฟรีแลนซ์ที่คุณทำ มันหาเงินได้จำนวนมากพอที่จะเลี้ยงดูทุกคนได้”

 

ทักษะอะไรที่จำเป็นสำหรับคนที่อยากจะทำอาชีพฟรีแลนซ์

“อย่างแรกก็คือการจัดการบริหารเวลา อันนี้นี้สำคัญมากเพราะว่าอย่างที่เรารู้ ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่ขึ้นกับเวลา บางทีก็จะมีงานที่เขาจะเอาช่วงนี้ เขาจะเอาตอนนี้ ถ้าไม่รับเขาจะไปจ้างคนอื่น เพราะงั้นเราต้องพร้อมถ้าเราอยากจะได้งาน งานคือเงิน เงินคือทุกอย่างของการเป็นฟรีแลนซ์

 

อย่างที่สองที่ผมว่ามันสำคัญ แต่บางคนอาจจะไม่ให้ความสนใจ คือ การบริหารจัดการเงิน อย่างที่บอกว่าฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่เงินเข้ามาเร็วและสามารถหายไปได้เร็ว (หัวเราะ) เพราะเราอาจจะไม่ได้คิดหน้าคิดหลังเรื่องการใช้เงินมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องบัตรเครดิต สำหรับฟรีแลนซ์เองบัตรเครดิตก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน ปกติพนักงานออฟฟิศที่มีบัตรเครดิตจะคำนวณได้ว่า ปลายเดือนจะมีเงินเท่าไหร่ เพราะเงินเดือนมันคงที่ พนักงานออฟฟิศจะบริหารเงินจ่ายบัตรเครดิตได้ง่ายกว่า

 

แต่ฟรีแลนซ์ต้องใช้ทักษะมากกว่านั้น เราต้องคาดการณ์ไปอีกหลายเดือนว่า เราจะมีงานไหม อย่างผมก็จะมีกฎสำหรับตัวเองว่า ต้องมีเงินเก็บประมาณ 6 เดือน หมายความว่าถ้าเราไม่มีงานเข้ามาเลย 6 เดือน เราต้องอยู่รอด เราต้องใช้ชีวิตปกติได้ เช่น กินอาหารปกติได้ จ่ายค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเลี้ยงดูแมวได้ภายใน 6 เดือน นอกเหนือจากนั้นถึงจะใช้ได้

 

อย่างต่อมาผมรู้สึกว่ามันคือเรื่องของทักษะในการพูดคุย ฟรีแลนซ์เป็นงานที่ต้องแข่งตลอดเวลา เหมือนต้องสมัครงานทุกเดือน และต้องเสนองานตลอดเวลาว่าเรามีดีอะไรบ้าง ทำไมคุณต้องจ้างในราคานี้ ฉันมีดีอะไร ก็เป็นทักษะที่ผมรู้สึกว่ามันต้องมีและสำคัญสำหรับฟรีแลนซ์ ทักษะที่เป็นมิตร เพราะเราจะไปเหวี่ยงลูกค้าไม่ได้ เพราะว่าถ้าเขาไปเล่าต่อว่าเราไม่ดียังไงต่อไป มันจะส่งผลกระทบต่องานในอนาคตมาก แล้วเราจะต้องสิ้นสุดอาชีพฟรีแลนซ์เพียงเท่านี้เลยก็ได้”

 

คอนเนคชั่นสำคัญกับอาชีพฟรีแลนซ์ไหม

“พอพูดถึงเรื่องคอนเนคชั่น เราก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่ผมรู้สึกว่าคอนเนคชั่นมันคือคำว่าเป็นที่รู้จัก ถ้าเรามีคอนเนคชั่น แต่งานไม่ดีจริง มันก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่การไปบังคับจ้างว่า คุณต้องจ้างเรานะ มันไม่ใช่อย่างนั้น แต่คอนเนคชั่นทำให้เขาเห็นว่าเราทำอย่างนี้ได้ แล้วในอนาคตเวลามีงานอาจจะนึกถึง เช่น ผมมีคนรู้จักบางคนพอมีงาน เขาก็สามารถที่จะว่าจ้างเราได้ หรือสามารถแนะนำเราให้คนอื่นได้ เหมือนกับการโชว์ว่าเรามีอะไร

 

ถ้าเป็นบริษัทจะมีฝ่ายขาย มีฝ่าย AE แต่พอเป็นฟรีแลนซ์เหมือนกับเราต้องเป็นทุกอย่าง เราต้องเป็นคนทำเองด้วย เราต้องขายงานเองด้วย เราต้องจัดการบัญชีเองด้วย เราต้องทำทุกอย่าง คอนเนคชั่นดีต่อ AE ยังไง คอนเนคชั่นก็ดีต่อฟรีแลนซ์อย่างนั้น มันคือการที่ทำให้เขารู้ว่าเราทำอะไรได้นั่นเอง แต่แน่นอนว่าถ้าเกิดงานเราไม่ดี ยังไงลูกค้าก็ไม่จ้าง ผมจะถือว่าคอนเนคชั่นอย่างเดียวไปไม่รอด คอนเนคชั่นมันเป็นแค่ใบเบิกทางให้เขารู้ว่าเราทำอะไร”

 

 

มีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำอาชีพฟรีแลนซ์​

“ผมรู้สึกว่าฟรีแลนซ์ไม่เหมาะกับคนที่เรียนจบมาแล้วต้องหาเงินเอง ที่บ้านเลิกซัพพอร์ต และยังไม่มีลู่ทางว่าจะหางานฟรีแลนซ์จากไหน ฟรีแลนซ์เหมาะกับคนที่มีลู่ทางแล้ว หรือถ้าไม่มีอาจจะมีแรงสนับสนุนจากครอบครัว ประเภทที่ว่าถ้าไม่มีงานก็อยู่ได้

 

คำแนะนำต่อมา คือ แล้วถ้าอยากเป็นฟรีแลนซ์จริง ๆ พอจะหางานได้จากไหน อย่างในปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมายที่เป็นแพลตฟอร์มหางานสำหรับฟรีแลนซ์ เช่น Fastwork.com มันคือเว็บไซต์ที่ไว้แมตช์ระหว่างฟรีแลนซ์กับนายจ้าง ฟรีแลนซ์ก็จะอัพโหลดผลงานกันไปแล้วบอกราคาว่างานประเภทนี้ราคาประมาณนี้นะ ใช้เวลาสามสี่วันนะ แก้ได้กี่ครั้ง แล้วก็จะมีลูกค้ามาเลือกดู

 

หรือแม้กระทั่งกลุ่มเฟซบุ๊ก เช่น มีกลุ่มกราฟฟิคไทยแลนด์ ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มที่เป็นทางการอย่างเว็บไซต์ แต่มันยังมีกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ มีกลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซบุ๊กอะไรต่าง ๆ ที่ฟรีแลนซ์สามารถที่จะเอาตัวเองไปเสนอได้ หรือแม้กระทั่งในทวิตเตอร์ก็มีนะ เช่น การติดแฮชแท็กว่ารับแปลงาน”

 

อยากบอกอะไรกับ 1st Jobber บ้าง

“ผมเข้าใจว่าอาชีพฟรีแลนซ์ มีทั้งคนที่ไม่รู้จะทำอะไรเลยมาทำฟรีแลนซ์ และคนที่มาทำฟรีแลนซ์เพราะว่าเห็นโอกาส ถ้าจะให้แนะนำ 1st Jobber ว่าควรทำฟรีแลนซ์เลยไหม ผมคิดว่าการทำงานประจำก็ได้ทักษะอะไรบางอย่างที่คุณจะนำมาทำฟรีแลนซ์ได้ อย่างผมที่มาทำฟรีแลนซ์ปัจจุบัน เพราะว่าตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมรับงานมาเยอะ ตอนที่ผมเรียนอยู่ผมก็รับงานฟรีแลนซ์มาประมาณหนึ่ง มีกลุ่มลูกค้าประจำที่เขาก็พูดต่อ ๆ กันไปทำให้ลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผมเลยมั่นใจว่าจริง ๆ การไม่ต้องทำงานประจำก็เหมาะกับเรานะ เพราะเราก็น่าจะมีงานมาเรื่อย ๆ ผมก็เลือกที่จะทำกัน

 

แต่ถ้าจบมาปุ๊บแล้วยังไม่มีมีคอนเนคชั่นเลย ผมว่าการหาคอนเนคชั่นจากงานประจำก็เป็นสิ่งที่โอเค ทำงานประจำสักพักแล้วพอเห็นลู่ทางที่จะทำงานฟรีแลนซ์นอกเหนือจากงานประจำอันนี้ก็ทำได้ หรือแม้กระทั่งว่าทำงานประจำแล้วถ้าอยากได้เงินเพิ่ม หรือมีเวลาเหลือ หรืออยากเปลี่ยนสายงาน การทำฟรีแลนซ์เพื่อทดลองก่อนมันก็ทำได้

 

ไม่ใช่ว่าอยากทำฟรีแลนซ์แล้วเราลาออกทันที อันนี้ผมไม่ค่อยแนะนำ ถ้าไม่มั่นใจจริง ๆ ว่าจะมีงาน เราสามารถที่จะลองทำก่อน เช่น ทำงานประจำอยู่แล้วเดือนนี้เราอาจจะรับงานฟรีแลนซ์ด้วย แล้วดูว่าเราเหนื่อยไหม ชั่งใจดูว่าค่าตอบแทนของงานประจำกับงานฟรีแลนซ์ งานไหนเหมาะสมกับเรา ลองดูถ้ามีคอนเนคชั่นมีงาน ก็อาจจะทำฟรีแลนซ์เลย แต่ถ้ายังไม่มีคอนเนคชั่น ยังไม่รู้จะทำอะไร อาจจะหางานประจำก่อน เผลอ ๆ ลูกค้าอาจจะมาจากงานประจำก็ได้”

Category:

Passion in this story