ทุกวันนี้เราเริ่มพูดกันว่า แค่ภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษ อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของโลกยุคใหม่อีกต่อไป ใครที่สามารถพูดภาษาที่ 3 ภาษาที่ 4 ได้ ก็มีภาษีมากกว่าคนอื่นเขา ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหนึ่งนะครับที่คนไทยสนใจเรียนเป็นอันดับต้น ๆ ของภาษาต่างประเทศในไทย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่าอยากจะไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี หรือเรียนเพื่อเอาไปใช้สอบ หรือต้องการที่จะไปใช้ชีวิตที่นู่นก็ตาม

 

คลาสในวันนี้ เราจะมาพูดคุยกับ ปกป้อง-สิทธิพัฒน์ ไพรบึง ครูสอนภาษาเยอรมันที่สถาบัน เกอเธ่ ประเทศไทย ว่าทำไมต้องภาษาเยอรมัน ภาษาเยอรมันสำคัญอย่างไร ภาษาเยอรมันยากง่ายแค่ไหน สถาบันเกอเธ่คืออะไร แล้วภาษาที่ 3 มันสำคัญยังไง

 

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

 

 

 

“สวัสดีครับ ชื่อปกป้องนะครับ ตอนนี้เป็นครูสอนภาษาเยอรมันอยู่ที่สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ครับ”

 

สถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut) คืออะไร

“ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่าประเทศเยอรมนีมีพันธกิจอยู่ข้อหนึ่ง คือ ต้องเผยแพร่วัฒนธรรมเยอรมัน ซึ่งภาษาก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรม แต่จริง ๆ สถาบันเกอเธ่เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นเผยแพร่วัฒนธรรมเยอรมัน ทีนี่ที่ประเทศไทยมีคนสนใจเรียนภาษาเยอรมันค่อนข้างเยอะ ต้องบอกก่อนเลยว่ามีคนไทยไปแต่งงานกับคนเยอรมันเยอะมาก แล้วเมื่อสักประมาณ 13-14 ปีก่อน ที่เยอรมนีมีกฎหมายที่ระบุว่า ถ้าชาวต่างชาติจะแต่งงานกับคนเยอรมันแล้วอาศัยอยู่ที่เยอรมนี คุณต้องมีพื้นฐานภาษาเยอรมันขั้นเบื้องต้นก่อน ก็คือ A1 แล้วก็ต้องสอบวัดระดับภาษาระดับ A1 ให้ผ่าน ถึงจะจดทะเบียนสมรสได้

 

คราวนี้พอจำเป็นต้องเรียนภาษาปุ๊ป ตอนนั้นในประเทศไทยมีตัวเลือกน้อยมาก สถาบันเกอเธ่เลยกลายเป็นตัวเลือกหลัก ๆ ของคนที่ต้องการเรียนภาษาเพื่อย้ายไปอยู่ที่เยอรมนี พอมาเรียนกันเยอะคอร์สเรียนภาษาเยอรมันของเกอเธ่ก็เลยดัง ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวสถาบันเกอเธ่ไม่ได้มีแค่คอร์สเรียนภาษาเท่านั้นนะ แต่ก็มีการเผยแพร่วัฒนธรรมในด้านอื่นด้วย ถ้าใครเคยเห็นหรืออาจจะเคยได้ยินในหลาย ๆ ที่ที่มีการจัดงานเกี่ยวกับดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ หรือวิทยาศาสตร์ แต่ว่ามีสถาบันเกอเธ่เป็นคนจัด ก็ไม่ต้องแปลกใจว่า เอ๊ะ ทำไมสถาบันเกอเธ่เป็นสถาบันสอนภาษา แต่ไปทำกิจกรรมด้านอื่นด้วย เพราะแผนกภาษาเป็นแค่แผนกหนึ่งในสถาบันเกอเธ่ ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี

 

ประเทศอื่นก็มีนะ เช่น ฝรั่งเศสก็เป็นสมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) ถ้าเป็นอังกฤษเท่าที่ได้ยินมา คือ British Council แต่ว่าอาจจะดูเป็นเชิงธุรกิจหน่อย”

 

 

ทำไมต้องเรียนภาษาเยอรมัน?

“คำถามนี้ค่อนข้างเป็นปัจเจกนะ ทำไมต้องเรียนภาษาเยอรมัน ขอตอบไม่ตรงคำถามแล้วกันว่า ใครที่เหมาะที่จะเรียนภาษาเยอรมันดีกว่า ส่วนตัวแล้วที่เราเลือกเรียนภาษาเยอรมันครั้งแรกตอนมัธยม คือต้องบอกตรง ๆ ว่าเสี่ยงเลือกเอา เพราะว่าไม่รู้จะเลือกภาษาอะไร (หัวเราะ) ก็เลยเลือกเรียนเยอรมัน เห็นคนเรียนน้อย

 

แต่พอได้มาเรียนจริง ๆ ตอนช่วงมัธยมถึงช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัยที่จะต้องเลือกคณะ สิ่งที่ทำให้เราอยากเรียนเยอรมันต่อ คือ สำหรับเราคิดว่ามันเรียนง่าย เพราะภาษามันเป็นระบบ แกรมมาร์อาจจะมีกฎเยอะก็จริง แต่ถ้าคุณเข้าใจกฎ คุณจะใช้ภาษาได้ค่อนข้างหลากหลายเลย และภาษาเยอรมันเขียนยังไงก็อ่านอย่างนั้น เช่น ตัว a จะออกเสียงว่า ‘อา’ ถ้าตัว a อยู่แค่ตัวเดียวแล้วไปบวกกับคำไหนก็จะอ่านเป็น ‘อา’ ตลอด ไม่เหมือนกับภาษาอังกฤษที่บางทีตัว a ก็อ่านเป็น ‘เอ’ บ้าง อ่านเป็น ‘อา’ บ้าง ต้องมานั่งจำทีละคำ แต่ภาษาเยอรมันมีกฎค่อนข้างตายตัว โอเค ตัว a อ่านได้แค่ ‘อะ’ หรือว่า ‘อา’ ขึ้นกับตัวสะกดจะเยอะหรือไม่เยอะ จะเป็นเสียงสั้นหรือเสียงยาว เลยทำให้เราคิดว่าภาษาเยอรมันง่าย

 

อีกเหตุผลนึงที่เลือกเรียนภาษาเยอรมันเพราะว่าสมัยก่อนและน่าจะสมัยนี้ด้วยนะ ตลาดแรงงานยังต้องการคนที่รู้ภาษาเยอรมันเยอะ คือคนเรียนภาษาเยอรมันน้อย อย่างที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่เราจบมา มีคนเรียนเอกเยอรมันทั้งหมด 26 คน แต่คนที่จบมาแล้วใช้ภาษาเยอรมันต่อมีไม่ถึง 5 คน นี่เลยทำให้เราคิดว่าถ้าเรียนภาษาเยอรมันมาน่าจะสามารถหาทำได้ง่าย

 

อีกอย่างคือ ตอน ม.ปลายได้มีโอกาสไปเยอรมนี แล้วเราชอบบุคลิกนิสัยของคนเยอรมัน ชอบสภาพแวดล้อม ชอบระบบการจัดการหลาย ๆ อย่างที่ประเทศเยอรมนี ก็เลยคิดว่าอยากจะทำความรู้จักกับประเทศนี้ให้มากขึ้น

 

 

การรู้ภาษาเยอรมันทำให้ได้เปรียบกว่าคนอื่นยังไง?

“ยังไม่พูดถึงในตลาดแรงงานนะ เพราะเราก็ไม่ได้เปลี่ยนงานบ่อย รู้สึก ว่าสิ่งหนึ่งที่เราได้จากการเรียนเยอรมัน คือ เราจะยอมรับความเห็นต่างทางความคิดของคนอื่นได้มากขึ้น เพราะว่าคนเยอรมันชอบถกเถียงและพอถกเถียงเสร็จปุ๊บ จบก็คือจบ ไม่มีเกลียดกันต่อ คนที่เขาเห็นต่างกันเขาอยู่ร่วมกันได้ เพราะว่าเขาค่อนข้างจะเปิดใจรับความต่าง แล้วก็ค่อนข้างจะอดทนกับความเห็นต่างได้มากกว่าตอนก่อนเรียนภาษา เพราะว่าอยู่กับเพื่อนเยอรมัน อยู่กับครูเยอรมัน เราเลยรู้สึกว่าได้รับได้รับอิทธิพลมาจากตรงนั้น

 

ข้อดีอีกอย่างของการที่รู้ภาษาเยอรมัน คือ ถ้าใครไปเรียนต่อป.โทที่เยอรมัน สิ่งที่เราจะได้หลังเรียนจบเลยนะก็คือสิทธิที่จะขอวีซ่าหางานที่เยอรมันต่อได้อีกสองปี ใครที่ไปเรียนต่อแล้วเรียนจบปุ๊บยังไม่อยากกลับไทย ก็สามารถขอวีซ่าหางานทำได้ ถ้าภายในสองปีมีงานทำต่อ เราแฮปปี้ เราสามารถอยู่ต่อยาวได้เลย รู้สึกว่าถ้าทำงานครบ 4 ปี สามารถไปสอบระดับภาษา สอบเกี่ยวกับกฎหมาย หรือว่าสอบกับความรู้รอบตัวเกี่ยวกับรัฐที่เราอยู่ ก็สามารถขอสัญชาติเยอรมันได้ น่าจะเหมาะกับคนที่ชอบประเทศเยอรมันและชอบสังคมที่ค่อนข้างจะเปิด”

 

 

ว่ากันว่าที่เยอรมันเรียนฟรี 

“ถ้าเรียนฟรี 0 บาทเลยก็ไม่จริง เพราะว่าจริง ๆ แล้วเขาไม่มีเก็บค่าหน่วยกิจ ไม่มีเก็บค่าบำรุง แต่สิ่งที่เขาจะเก็บเราทุกเทอม คือ ค่าลงทะเบียนเรียน ซึ่งอันนี้จะแตกต่างกันในแต่ละที่ เคยเจอเพื่อนที่ไปเรียนแล้วจ่ายเทอมหนึ่งแค่ประมาณ 150 ยูโร ถึง 300 ยูโร ต่อเทอมนะ แค่นี้จบไม่เสียค่าอะไรแล้ว ก็ประมาณ 12,000 บาท ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเทอม

 

แล้วในบางรัฐ เวลาจ่ายค่าลงทะเบียนแล้ว สิ่งที่เราจะได้กลับมา คือ บัตรนักศึกษาที่สามารถนั่งรถไฟฟรี หรือว่านั่งขนส่งสาธารณะฟรีได้ด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราจะได้กลับจากเงินค่าลงทะเบียน ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือโบนัส 1. ค่าเรียนก็เสียแค่เทอมละหมื่นกว่าบาท สองหมื่น ไม่เกินสามหมื่นนะ แล้วก็ได้นั่งรถฟรีในเมืองด้วย หรือว่าถ้าเป็นรัฐที่ไม่ค่อยใหญ่มากก็นั่งรถไฟฟรีทั่วรัฐเลย ไปเที่ยวนู้นไปเที่ยวนี่ นั่งรถไฟได้เลย ฟรี แต่ต้องเป็นรถไฟที่เขากำหนดนะที่ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง

 

แล้วก็ล่าสุดมีอัพเดท ที่รัฐ Baden-Wurttemberg หลายคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้ แต่ถ้าบอกว่าเป็นเมือง Stuttgart น่าจะเคยได้ยินกัน หรือว่าเมือง Heidelberg ที่เป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยที่เก่าที่สุดอยู่ ตอนนี้มีนโยบายเก็บค่าเทอมนักเรียนต่างชาติแล้ว เท่าที่เคยเห็นก็เทอมละ 1,000 กว่า 1,500 มั้ง ตอนนั้นไปเปิดดูมหาลัยที่อยากจะไปเรียนก็ไปเปิดดูค่าเทอม ก็ประมาณ 1,500 ต่อเทอม เป็นเงินไทยก็ประมาณ 60,000 บาท 60,000 ก็ยังถูกกว่าการเรียนป.โทในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ ที่ในไทยนะ

 

จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับที่ ขึ้นอยู่กับรัฐด้วย ด้วยความที่เยอรมันแบ่งการปกครองย่อยเป็นรัฐ ๆ เป็นรัฐรวมไม่ใช่รัฐเดี่ยวเหมือนไทย เพราะฉะนั้นแต่ละรัฐก็จะมีรัฐบาลที่ออกกฎหมายเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎการไปโรงเรียน บางรัฐป.1 ถึงม.6 จะเรียนน้อยกว่าบางรัฐ หมายถึงว่าใช้ปีน้อยกว่า เช่น บางโรงเรียนป.1 ถึงม.6 ใช้เวลาเรียนแค่ 12 ปี แต่ว่าบางรัฐเรียน 13 ปี มันก็แตกต่างกันหลาย ๆ อย่างเลย

 

ซึ่งค่าเทอมเสียน้อยก็จริง แต่ว่าถ้าเราอยากไปเรียนป.โทเนี่ย สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวนอกจากการเรียนภาษาแล้ว คือเรื่องเงินเพราะว่าเวลาจะไปขอวีซ่า เราต้องมี Statement ไป เราต้องไปเปิด Blocked account เพื่อที่จะยืนยันว่าหนึ่งปีที่เราจะไปเรียน เราจะมีเงินที่จะอยู่ได้นะ ตกประมาณ 300,000-400,000 บาท สำหรับหนึ่งปี เท่าที่เคยคุยกับเพื่อน ๆ ที่ไปเรียนต่อมา ส่วนใหญ่เขาดูแค่ปีแรกปีเดียว สมมติว่าไปเรียนป.โท เขาจะดู Statement แค่ปีแรกปีเดียว”

 

 

ถ้าไม่รู้ภาษาเยอรมันไปเรียนหลักสูตรภาษาอังกฤษที่นั่นได้ไหม?

“ได้ แต่ต้องดูเมืองที่จะไปเรียนด้วย สมมติว่าเราไปเมืองที่เล็กมาก ๆ เราไปเรียนภาคอินเตอร์เราอาจจะคุยกับเพื่อนในห้องรู้เรื่อง แต่ว่าเวลาออกมาข้างนอก ออกไปร้านขายของ ออกไปร้านอาหาร ถ้าเจอวัยรุ่นหน่อยก็โอเค เขาพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ถ้าไปร้านขายของชำ หรือไปซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือไปร้านขายขนมปังที่เจอคนที่ค่อนข้างมีอายุหน่อย เขาอาจจะพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เราก็จะอยู่ลำบาก ถ้าเราไม่ได้ภาษาเยอรมันแต่เลือกไปเมืองใหญ่ เช่น เบอร์ลิน มิวนิค หรือว่าฮัมบวร์ก คือหายห่วงเลย ยังไงคนรอบข้างพูดอังกฤษได้แน่นอน

 

ในช่วงปีหรือสองปีที่ผ่านมา มีนักเรียนที่จะไปเรียนภาคอินเตอร์แต่เขาก็มาเรียนภาษาเยอรมัน เขาก็เล่าให้ฟังว่าที่มหาวิทยาลัยเนี่ย ถึงแม้ว่าจะเป็นหลักสูตรอินเตอร์ แต่เขาก็ขอดูใบสอบระดับภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐานก่อนไป แม้ว่าจะเป็นภาคอินเตอร์นะ แต่ว่าก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย ขึ้นอยู่กับคณะ ขึ้นอยู่กับหลักสูตรเลย แนะนำให้เปิดดูหลักสูตรก่อนว่าเขาต้องการอะไรบ้าง”

 

 

ไปเรียนมหาวิทยาลัยไหนดี?

“ที่เยอรมันเขาไม่จัดอันดับมหาวิทยาลัย ไม่จัดอันดับโรงเรียนนะ ส่วนใหญ่ถ้าเราเห็นอันดับมหาวิทยาลัยในเยอรมันเนี่ย คนที่ทำจะไม่ใช่คนในประเทศ คือคุณภาพของทุกมหาวิทยาลัยจะใกล้เคียงกัน เท่าที่คุยกับนักเรียนเวลาเขาเลือกมหาวิทยาลัย เขาจะเลือกว่าที่มหาลัยนี้ ที่คณะนี้ มีอาจารย์ที่จบด้านที่เราอยากจะเรียนโดยตรงไหม เขาจะดูบุคลากรมากกว่า สมมติว่าเราอยากไปเรียนภาษาศาสตร์แล้วเราไปดูภาควิชาภาษาเยอรมันแต่ละคณะ ถ้าสมมุติว่าแบบเจอใครที่รู้สึกว่าคนนี้โดดเด่น หรือว่าเจอคณะที่รู้สึกว่า โห คณะนี้ภาควิชาเยอรมันมีอาจารย์ภาษาศาสตร์เยอะจัง เราไปที่นี่ดีกว่า

 

คือส่วนใหญ่เท่าที่เจอมาเขาเลือกแบบนี้กัน หรือว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่เวลาคนจะเห็นใจเลือกมหาวิทยาลัยก็คือ เมือง กับค่าครองชีพในแต่ละเมือง ที่เยอรมันเขาไม่จัดอันดับมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ แต่เขาก็จะมีแบบพูดนะว่า อยากเรียนคณะนี้เหรอ ไปเรียนมหาวิทยาลัยนี่สิ จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของแต่ละที่ เช่น อยากเรียนวิศวะไปเรียนที่ Aachen ไปเรียนที่มิวนิคสิมันดัง จะเป็นเหตุผลที่ว่ามันดัง ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ว่ามันดีที่สุด”

 

 

ในประเทศไทยมีทุนการศึกษาไปเรียนที่เยอรมันเยอะไหม?

“เยอรมันจะมีองค์กรหนึ่งที่ชื่อว่า DAAD เป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับการเรียนต่อในเยอรมัน แล้วแล้วทุนของ DAAD เนี่ยจะมีเข้ามาเรื่อย ๆ เลย ถ้าอยากติดตามเกี่ยวกับทุนที่จะไปเรียนเยอรมัน ก็ให้เป็นไปตามที่เพจ DAAD ได้เลย (@DAAD) แล้วเกือบทุกทุนที่เคยเห็น ที่มาจากเยอรมันจะเป็นทุนฟรี เป็นทุนเปล่าหมด หรือว่าจะมีพวก Stiftung พวกมูลนิธิทางการเมืองของเยอรมัน เช่น มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ (Konrad-Adenauer-Stiftung)

 

ทุนพวกนี้หรือพรรคการเมืองของเยอรมันจะแจกทุนเหมือนกัน แต่ว่าคุณสมบัติเราก็ต้องเป็นคนที่ช่วยเหลือสังคม เป็นคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นทางสังคม หรือเคยมีประวัติทำงานเกี่ยวกับจิตอาสาในมหาวิทยาลัย ก็สามารถขอทุนของมูลนิธิหรือองค์กรทางด้านการเมืองได้ ซึ่งเป็นทุนฟรีหมดเลยด้วย แต่ว่าตอนเรียนอยู่จะต้องมาช่วยงานที่มูลนิธิหรือว่าช่วยงานที่พรรคการเมืองบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้ว ถือว่าเป็นข้อดีนะ เพราะเราก็จะได้ประสบการณ์ด้วย”

 

 

จริงรึเปล่าที่ภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่คนพูดเยอะที่สุดในยุโรป

“จริง เพราะว่าถ้านับแค่ยุโรปนะ เยอรมันประเทศเดียวมี 80 ล้านคนแล้ว แล้วยังมีประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศออสเตรียอีก มันเลยเป็นภาษาที่ถูกใช้เยอะที่สุดในยุโรป ฉะนั้นก็จะพูดได้ว่าถ้าเกิดใครที่อยากไปหางานทำที่เยอรมันหรือว่าในทวีปยุโรป การเลือกเรียนภาษาเยอรมัน ไม่ใช่แค่เฉพาะภาษาแม่ของประเทศนั้นที่เราอยากจะไปก็ถือว่าได้เปรียบ ลองเปิดหางานใน LinkedIn พอเสิร์ชไปคำว่า German Speaking จะพบว่าประเทศอื่นก็หาเยอะนะที่ไม่ใช่ประเทศเยอรมัน ประเทศสเปนก็หา ประเทศฝรั่งเศสก็มี เนเธอร์แลนด์ก็มี โปแลนด์ก็หา”

 

 

ภาษาเยอรมันเรียนยากไหม?

“เอาจริง ๆ นะ จากประสบการณ์ที่เคยสอนมา คนที่เก่ง ๆ ในห้องส่วนมากจะเป็นเด็กที่เรียนสายวิทย์ เป็นเด็กที่เก่งเลข เป็นเด็กที่เก่งวิทย์นี้ เรารู้สึกว่ามันก็เหมือนสมการ มันมีกฎของมัน มันสามารถเล่นอะไรเยอะ โอเค มันยากกว่าอังกฤษจริง คำทุกคำมีเพศ แล้วมันเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผล คำนามทุกคำมีเพศหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นคำที่เป็นรูปธรรม หรือว่าเป็นนามธรรม ซึ่งเพศก็คือต้องท่องเอา

 

 

แต่พอเราเริ่มเรียนจริง ๆ เรื่องเพศมันจะกลายเป็นเรื่องง่ายไปเลย มันไม่ใช่เรื่องที่มันยากเป็นที่หนึ่ง เราคิดว่าที่คนรู้สึกว่าภาษาเยอรมันยากเพราะคนชินกับภาษาอังกฤษมากกว่า แล้วคนจะมีมาตรฐานว่าภาษาที่ไม่ยาก คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งจริง ๆ แล้วอังกฤษก็ไม่ได้ไม่ยาก แต่เราแค่ชินเพราะเรียนมาตั้งแต่อนุบาล

 

พอคนที่คุ้นกับภาษาอังกฤษมาเรียนเยอรมันปุ๊บ มันก็จะมีความยากมากกว่าภาษาเยอรมันในหลาย ๆ ด้าน เช่น การผันกริยา ภาษาอังกฤษแค่ Singular หรือ Plural ถ้าเป็น Singular ก็แค่เติม s/es แต่ว่าเยอรมันผันหมดเลยทุกตัว I ที่ภาษาเยอรมันเป็น Ich ก็ผัน You ก็ผัน He She It ก็ผัน คนละแบบหมดเลย มันเป็นเรื่องที่เยอะขึ้น แต่มันก็มีกฎของมันนะ ถ้าจำกฎได้ก็เอาไปประยุกต์ใช้ได้กับคำกริยาเกือบทุกตัวเลย

 

 

สิ่งที่ยากในภาษาเยอรมันที่คนชอบบอก ก็มีเรื่องเพศกับเรื่องการผันกริยา เรื่องคำหน้านาม ซึ่งเรารู้สึกว่าเรื่องทุกเรื่องที่คนบอกว่ายาก มันไม่ใช่เรื่องที่เวลาพูดผิดแล้วความหมายมันจะเปลี่ยนตลอดขนาดนั้น คือภาษาเยอรมันมีระบบระเบียบกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เพราะฉะนั้นก็จะง่ายสำหรับใครหลาย ๆ คนที่ที่ชอบกฎเกณฑ์มีระบบ

 

 

ภาษาเยอรมันเป็นระบบ แต่มีลูกเล่น ภาษาอังกฤษจะเรียงเป็นประธานกริยากรรม แต่ภาษาเยอรมันสามารถจะสลับอะไรมาขึ้นก่อนก็ได้ อยากเอาเวลามากขึ้นก็ได้ อยากเอากรรมาขึ้นก่อนก็ได้ อยากเอากริยาขึ้นก่อนก็ยังได้เลย อาจจะดูซับซ้อนแต่เป็นระบบนะ ซับซ้อนแต่ทุกอย่างมีเหตุผล

 

 

แล้วต้องบอกว่าภาษาอังกฤษกับภาษาเยอรมันเป็นภาษาในกลุ่มเดียวกัน อยู่ในตระกูลเดียวกัน ใกล้กันมากกว่าภาษาอังกฤษกับฝรั่งเศสอีก เหมือนเป็นพี่น้องกันเลย ฉะนั้นใครที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษอาจจะเรียนภาษาเยอรมันได้ดี เพราะมีความคล้ายคลึงกันมาก”

 

 

ภาษาที่ 3 สำคัญยังไง?

“ภาษาที่ 3 ช่วยให้เราหางานได้ง่ายขึ้นนะ อันนี้ไม่ได้พูดถึงคนจบภาษาโดยตรง แต่สมมติว่าเราเรียนบัญชี แล้วเราพอมีความรู้พื้นฐานภาษาเยอรมันบ้างหรือว่าภาษาอื่น เวลาบริษัทเยอรมันเขาหานักบัญชีเนี่ย เขาจะหานักบัญชีที่พูดภาษาเยอรมันด้วย หรือว่าเขาอาจจะมองหานักบัญชีที่พูดเยอรมันได้ก่อนเป็นตัวเลือกแรก แล้วแต่ก่อนถ้าบริษัทเยอรมันจะหานักบัญชีที่พูดเยอรมันได้ เขาจะเอาเด็กที่จบภาษาไปทำงานแล้วเริ่มเรียนบัญชีใหม่ แต่ปัจจุบันนี้โลกมันค่อนข้างโลกมันกว้างขึ้น ทุกคนมีโอกาสได้สัมผัสภาษามากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นเรียนบัญชีจบมาปุ๊บ แล้วบริษัทเยอรมันเปิดนักบัญชี เราคือเป็นเบอร์หนึ่งนะ ได้ทั้งบัญชี ได้ทั้งภาษา จะไม่เหมือนกับเด็กที่จบภาษามาแล้วมีแค่ภาษาที่ไม่มีสกิลอื่น

 

 

อันนี้คิดว่าเป็นข้อดีของการเรียนภาษาที่ 3 และอย่างที่บอกไปตอนต้นว่าจริง ๆ พอเราเรียนภาษาใหม่ ไอ้ตัวภาษามันจะทำให้เราได้ฝึกคิดแบบเจ้าของภาษานั้น ๆ เราอาจจะไปเจอวิธีคิดอะไรที่เราเจอแล้วเรารู้สึกชอบมากก็ได้ หรือพอเราเรียนภาษาใหม่ เราก็อาจจะอยากไปเที่ยวในประเทศที่เขาใช้ภาษานั้น อาจจะอยากไปลองของ ได้เรียนภาษานี้มาแล้วลองไปหน่อยละกัน พอไปแล้วอาจจะชอบสภาพบ้านเมือง ทำให้เรามีความคิดที่อยากจะย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วก็ไปปักหลักที่อื่น ชีวิตเราก็อาจจะดีขึ้นก็ได้”

 

 

ถ้าอยากเรียนภาษาเยอรมัน ทำไมต้องมาเรียนที่เกอเธ่

“ปกติแล้วที่เราเรียนภาษามาตลอดชีวิต เรานี่คือตัวเราเองนะตัวเองนะไม่ได้เหมารวมส่วนใหญ่ เวลาเรียนภาษามาจะถูกถามว่า วันนี้เรียนอะไรมา อ้อ วันนี้เรียน Tense นี้ วันนี้เรียนแกรมมาร์เรื่องนี้ เดี๋ยวมิดเทอมสอบแกรมมาร์เรื่องนี้ ซึ่งเท่าที่เจอมาตั้งแต่เรียนประถมมัธยม ส่วนใหญ่คือคนที่จะเรียนภาษาก็เรียนเอาแค่แกรมมาร์ เรียนเอาแค่ คำศัพท์ ซึ่งพอได้แกรมมาร์พอได้คำศัพท์ปุ๊บ แล้วเอาไปใช้จริงยังไง เราถูกสอนมาแค่แกมมาร์ เราถูกฝึกมาแค่คำศัพท์ เราไม่ได้ถูกฝึกเรื่องการสื่อสารมาในห้องเรียน

 

 

แต่ว่าที่สถาบันเกอเธ่ นักเรียนมาเรียนกับเรา 90 นาที สิ่งที่ครูผู้สอนจะคิดก็คือ เรียนจบไปแล้วเด็กสามารถสื่อสารอะไรได้ เช่น สมมติว่าวันนี้เด็กเรียนจบแล้วเด็กจะต้องบอกอายุตัวเองได้ เราก็จะวางแผนย้อนกลับไปว่า เอ๊ะ ถ้าเด็กจะต้องบอกอายุตัวเองได้จะต้องเรียนอะไรบ้าง เช่น ตัวเลข ในห้องเรียนเราก็จะสอนเรื่องตัวเลข สอนเรื่องการผันกริยาเกี่ยวกับการบอกอายุ แต่ตอนจบของคาบเรียน นักเรียนต้องสามารถออกไปข้างนอกแล้วเจอคนเยอรมันเ นักเรียนจะต้องสามารถถามตอบเรื่องอายุได้

 

 

อันนี้เป็นจุดแข็งของสถาบันเกอเธ่เลย คือ เน้นการเรียนการสอนที่เอาไปใช้เพื่อสื่อสาร สอนการใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน จำลองการใช้ภาษาในประเทศนั้น ๆ แล้วอีกหนึ่งอย่างที่คิดว่าเป็นจุดเด่นของสถาบัน คือ ครูของสถาบันทุกคนจะผ่านการอบรมครู อบรมการสอนภาษาแบบสมัยใหม่ที่เน้นการสื่อสาร ซึ่งการอบรมไม่ได้ใช้เวลาเดือนสองเดือนนะ อย่างตอนที่เราเรียนจบด้านภาษามาปุ๊บต้องมาอบรมกับเกอเธ่ต่อ ก็ใช้เวลาประมาณ 3 ปีครึ่ง เพราะฉะนั้นกล้าพูดเลยว่าครูที่สถาบันมีมาตรฐานค่อนข้างใกล้เคียงกันเลย

 

 

วิธีการเรียนการสอนก็เป็นวิธีการสอนสมัยใหม่ด้วย เรียนภาษาผ่านการเล่นเกมภาษา ได้ฝึกภาษาด้วยสนุกด้วย และอย่างที่เคยบอกไปแล้วตั้งแต่ต้นแล้วว่า สถาบันเราเป็นสถาบันที่เกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เด็กนักเรียนจะได้เรียนในห้อง ไม่ได้มีแค่เพียงแต่ตัวภาษา ตัวแกรมมาร์ ตัวคำศัพท์ การสื่อสาร แต่ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมด้วย

 

 

แล้ววิธีการสอนด้านวัฒนธรรมเนี่ย เราไม่ได้สอนแค่คนเยอรมันชอบกินอะไร ภูเขาไหนสูงที่สุด เราสอนให้รู้ว่าคนเยอรมันชอบกินเบียร์นะ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ชอบกินเบียร์ คนจะกินเบียร์ตอนไหน ทำไมเวลานี้คนถึงกินอันนี้ คือเราาจะสอนให้เข้าใจวัฒนธรรม ยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรมได้ เช่น หน้าหนาวคนเขากินไวน์กัน แต่ถ้ามีคนหนึ่งโผล่มากินเบียร์ เราก็จะไม่ขำเขาหรือว่าเราจะไม่รู้สึกว่าเขาแปลก แต่เราต้องหาเหตุผลว่าทำไมเขาถึงกินเบียร์ เขามีเหตุผลอะไรถึงกินแบบนี้ เราจะไม่ตัดสินเขาว่าแปลก ไม่ใช่เยอรมัน จะไม่พูดว่าวัฒนธรรมเยอรมันคือแบบนี้ “คนเยอรมันทุกคนชอบกินเบียร์” จะไม่มีประโยคแบบนี้หลุดออกมาในห้องเรียน จะไม่มีการเหมารวม

 

 

ซึ่งเรารู้สึกว่าสำหรับบางคนที่ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เวลามาเรียนก็ทำให้เขาได้เปิดโลกเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราทำอะไรแปลก ๆ คนเยอรมันส่วนใหญ่จะถามว่าทำไมถึงทำแบบนี้ เขาจะไม่ขำ แต่เขาจะอยากรู้เหตุผลว่าทำไม”

 

 

ในช่วงโควิดที่สถาบันเกอเธ่สอนยังไง?

“ตอนนี้สอนเป็นออนไลน์หมดเลยครับ เรียนผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า Adobe Connect เรียนออนไลน์ล้วนเลย และถ้าถามว่าพิเศษกว่าห้องเรียนปกติไหม ก็ไม่ได้พิเศษกว่าห้องเรียนปกติ แต่มาเรียนออนไลน์เเล้วจะได้รับความรู้หรือว่าได้รับเนื้อหาที่น้อยกว่าห้องเรียนปกติไหมก็ไม่เหมือนกัน เรียนออนไลน์ก็ยังได้ฝึกพูด ก็ยังได้ฝึกเขียน ยังได้คุยกับเพื่อนอยู่ เราจะวางแผนการเรียนการสอนแบบให้นักเรียนเป็นหลักเป็น ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน จริง ๆ ตอนอบรมครูจะมีกฎข้ออยู่ข้อหนึ่ง ก็คือสมมติว่าในการเรียน 90 นาที นักเรียนต้องได้พูดมากกว่าครู ครูอาจจะพูดสักแค่ 30 นาที แต่ว่าที่เหลือ 60 นาที เป็นเวลาที่จะต้องฝึกเองหมดเลย”

 

 

อยากฝากอะไรถึง 1st Jobber ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานบ้าง

“การใช้ชีวิตมันคือความเสี่ยง สิ่งที่แน่นอนคือสิ่งที่ไม่แน่นอน จะทำอะไรมันก็เสี่ยง ทำสิ่งที่เสี่ยงน้อยมันก็ยังมีความเสี่ยง เพราะฉะนั้นถ้าอยากทำอะไรเราตั้งเป้าหมายไว้เลย แล้วเดินตามเป้าหมายไป อย่าเพิ่งไปวอกแวกกับสิ่งข้างทาง เช่น ถ้าเราอยากทำงานหนึ่งก็ให้ตั้งเป้าหมายเลยว่า ถ้าจะทำงานนี้ระหว่างทางเราต้องฝึกอะไรบ้าง เราต้องการอะไรบ้างแล้วฝึกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไปถึงงานนั้น

 

 

อย่าเลือกงานเพราะว่าได้งานนี้เป็นงานแรก ให้เลือกงานเพราะว่าอยากทำงานนี้มาก แล้วก็อย่าดูถูกตัวเอง อย่าลดค่าตัวเอง เราแอบเสียดายแทนเพื่อน ๆ หลายคนตอนที่เรียนจบมาค่อนข้างจะไม่มั่นใจกับตัวเอง แล้วเวลาเรียกเงินเดือนก็ดันเรียกไปน้อย เราเสียดายแทนเพื่อนที่เรารู้สึกว่าตัวเขาเองมีคุณภาพที่จะสมควรจะได้รับเงินมากกว่านี้”

 

 

 

Category:

Passion in this story