สมัยนี้กำลังมีกระแสการจัดการประเทศนะครับเป็นที่ชุมนุมกันมากว่าการทำความสะอาดมันยากหรือง่ายแค่ไหนกันแล้วจะต้องเตรียมใจกันยังไงบ้างประเทศก็จะมีรูปแบบมีการชุมนุม และความยากง่ายในการใช้ชีวิตต่างกันไป

ไบค์ในวันนี้เราเลยจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับการเดินทางไปใช้ชีวิตและทำงานในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเราได้พูดคุยกับ“ พี่ปอย – จิดาภา โอซาวะ” ที่ได้มีโอกาสไปทำงาน และสร้างครอบครัวที่ญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรเหมาะกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่หรือไม่ไปติดตามฟังกันเลยครับ

 

 

“ค่ะชื่อปอยนะคะจบจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนเอกญี่ปุ่นเมื่อนานมาแล้วแล้วก็สามารถมาอยู่ญี่ปุ่นมา 8 ปีแล้วตอนนี้ทำงานอยู่บริษัทที่ญี่ปุ่นก่อนวัยเรียนจะมาก็ได้มาแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นในโครงการของมหาวิทยาลัย 1 ปีเลยมีความรู้ภาษาญี่ปุ่นมาก่อนพอสมควร มาที่นี่ก็เลยไม่ค่อยมีความกังวลในเรื่องภาษาเท่าไหร่ “

 

เพราะว่าเรามีทุนเดิมอยู่แล้วที่เราไปอยู่มา 1 ปี

“ใช่ ก็จะชินกับประเทศเขานิดนึง”

 

พี่ปอยอยู่ที่ญี่ปุ่นมากี่ปีแล้ว

“8 ปีค่ะไม่นับที่เรามาแลกเปลี่ยนตอนมหาวิทยาลัยนะย้ายมาตั้งแต่ปี 2013”

 

แล้วไปทำอะไรที่ญี่ปุ่น

“ตอนนี้ทำงานอยู่ จริง ๆ จบมหาวิทยาลัยที่เมืองไทยแล้วก็ทำงานที่เมืองไทยมาก่อนปีกว่า ๆ แล้ว ตอนแรกจะขอทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมาเรียนแต่ว่าเราโชคดีได้งานเขาเสนองานให้เลยลองมาทำที่ญี่ปุ่นดูตอนแรกกะว่าจะทำแค่ปีสองปี แต่ทำลากยาวมา 8 ปี แล้วก็แต่งงานลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่เลย “

 

รู้ตัวอีกทีอยู่ยาวเลย

“ใช่ รู้ตัวอีกทีอยู่ยาวแล้ว ตอนแรกกะอยู่แค่ 2-3 ปี เอาประสบการณ์แล้วก็กลับเมืองไทย แต่เราก็อยู่ได้มาเรื่อย ๆ “

 

 

แล้วทำไมต้องญี่ปุ่นถ้าตัดเรื่องที่เราเรียนทางภาษาญี่ปุ่นมา มีเหตุผลอื่นไหมที่ทำให้เราตัดสินใจไปญี่ปุ่น

“คุณภาพชีวิต (Quality of life) ที่ญี่ปุ่นดี คือเราอยู่แล้วสบาย ตอนที่มาเรียนแลกเปลี่ยนถ้าตัดเรื่องภาษาไป ประเทศเขาอยู่แล้วสบายมาก ค่าครองชีพอาจจะสูง แต่การเดินทางสะดวกสบายมาก อาจจะติดที่ถ้าไม่รู้ภาษาเขาเลยก็จะแย่หน่อย อย่างที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นไม่พูดภาษาอังกฤษ อะไร ๆ ก็จะเป็นภาษาญี่ปุ่นไปหมดเลย”

 

ก็ต้องมีพื้นฐานหน่อย รู้เรื่องวัฒนธรรม เรื่องภาษาด้วย

“ใช่ นิดนึง เราจะได้อยู่สบาย ถ้าเกิดคนที่มาเริ่มใหม่เลยอาจจะลำบากหน่อยตอนแรก ๆ แต่ว่าตอนนี้ญี่ปุ่นก็เปิดรับคนต่างชาติมากขึ้น หมายถึงว่าเปิดใจว่าทำให้สังคมญี่ปุ่นเข้ากับโลกได้มากขึ้น มีการผสมผสานของวัฒนธรรมมากขึ้น แต่ก็อาจจะมีอยู่นิดนึงที่คนเขายังติดอยู่กับวัฒนธรรมเดิม ๆ บ้าง”

 

แล้วอยู่มา 8 ปีเคยเจอการเหยียดจากคนญี่ปุ่นไหม

“พี่รู้สึกว่าพี่โชคดีมาก คือพี่ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นที่มีคนต่างชาติทำงานอยู่ไม่ถึง 1% ในบริษัทมีพนักงานอยู่ 2,500 คน มีคนต่างชาติอยู่ไม่ถึง 10 คน และมีคนไทยอยู่แค่คนเดียว แต่พี่ไม่เคยโดนเหยียดเชื้อชาติเลย ซึ่งในทีมที่พี่ทำพี่ก็เป็นผู้หญิงคนเดียวแล้วตอนนี้พี่ท้องด้วย เขาก็ไม่เคยเหยียด คือสังคมญี่ปุ่นจะมีความล่วงละเมิดทางเพศเยอะมาก เขาจะมีคำศัพท์ของเขาเลย ละเมิดคนท้อง ละเมิดผู้หญิง แต่ว่าพี่ไม่เคยโดนเลย”

 

คือญี่ปุ่นนอกจากจะมีเหยียดเชื้อชาติแล้ว ก็ยังมีการเหยียดเพศด้วย แต่ว่าพี่ไม่เคยเจอเลย

“ใช่ ๆ ไม่เคยเจอเลย เพราะว่าโชคดีที่เป็นบริษัทใหญ่ เป็นบริษัททางด้านการเงินด้วย ก็จะรักษาภาพลักษณ์หน้าตาของบริษัทเขา เพราะถ้าเกิดมีคดีอะไรออกไปก็จะไม่ดีกับบริษัทเขา เขาก็จะค่อนข้างมีความรับผิดชอบกับสังคมสูง”

 

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่ปอยตัดสินใจเลือกหาลู่ทางไปญี่ปุ่น

“ต้องบอกว่าพี่โชคดีที่ได้รับข้อเสนอให้มาทำงานที่ญี่ปุ่น ตอนแรกทำงานที่เมืองไทยแล้วบริษัทที่ไทยก็บอกว่าลองไปทำงานที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นไหม เพราะเขาน่าจะเห็นว่าเราสามารถทำได้ เราอาจจะมีดวงตรงนั้น แล้วพี่เป็นคนชอบท้าทายตัวเอง ไม่ยอมปฏิเสธโอกาส อีกอันนึงคือเรามีประสบการณ์ที่ญี่ปุ่นมาก่อน เรารู้ว่าเราอยู่ได้ เราอาจจะไปลองแบบใหม่ที่ไม่ใช่นักเรียน แต่ไปทำงาน พูดจริง ๆ ว่าเป็นการลองที่กะอยู่แค่ปีสองปีแล้วกลับ”

 

ก็คือเป็นโอกาสที่เราได้รับ อยากจะท้าทายตัวเองด้วย

“ใช่ มันคือประเทศที่เราคิดว่าเราอยู่ได้ เราเคยอยู่มา”

 

ต้องเตรียมตัวยังไงบ้างครับในการที่จะไปทำงานที่ญี่ปุ่น

“ไปประเทศไหนก็ต้องมีวีซ่า ก่อนที่จะมีโควิด-19 คนไทยจะเข้าญี่ปุ่นโดยที่ไม่ต้องขอวีซ่าได้ 15 วัน ถ้าอย่างตอนนี้เราอยากจะย้ายประเทศ คนที่ไม่มีวีซ่าทำงานก็อาจจะต้องทำวีซ่านักเรียนเข้ามาก่อน หรือทำวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาก่อน เพื่อมาหางาน พอเข้ามาก็หางานให้เรียบร้อยแล้วค่อยเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงาน เพราะว่าเขาก็ค่อนข้างเข้มงวดเรื่องวีซ่า”

 

ญี่ปุ่นขอวีซ่ายากไหม

“ยากอยู่เหมือนกันนะ ตอนที่พี่มาพี่มีบริษัทรองรับแล้วเรียบร้อย เขาออกใบรับรองเราให้ครบแล้ว เพราะถ้าไม่ครบก็มาไม่ได้แน่ ๆ”

 

อาจจะดูเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ก็เข้าไปด้วยวีซ่านักเรียนก่อน วีซ่าเยี่ยมญาติก่อน แล้วพอถึงที่นู้นค่อยเปลี่ยนวีซ่า

“ใช่ แต่จริง ๆ ถ้าเราอยู่ด้วยวีซ่านักเรียน อยู่ไปเรื่อย ๆ ยังไม่ต้องหางานทำเราอยู่ได้นะ แต่ว่าอาจจะลำบากเรื่องเงิน ถ้าเราอยากจะหางานทำถูกกฎหมาย เราก็ต้องหางาน หาบริษัทที่รับรองเรา แล้วเขาก็จะหาคนที่มาประกันว่าเราอยู่แบบถูกกฎหมาย อย่างตอนที่พี่เข้ามา พี่เข้ามาด้วยวีซ่าทำงานก่อนแล้วก็เปลี่ยนมาเป็นวีซ่าคู่สมรส ทีนี้ก็เลยอยู่ได้ยาว”

 

ตอนแรกที่ไปอยู่เจอปัญหาอะไรบ้าง

“ตอนแรกทรมานมากเรื่องการทำงานกับคนญี่ปุ่น เราอยากกลับเลยนะ ไปคุยไปร้องไห้กับครอบครัวเลยว่าอยากกลับ จนที่บ้านทนไม่ได้ต้องบินมาหา คือเราไม่ชินกับวัฒนธรรมการทำงานของเขา พี่เรียนมาว่าวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นทำแบบนี้ เขาเป็นแบบนี้มาก็จริง แต่ว่าพอมาเจอจริง ๆ มันก็ไม่ใช่วัฒนธรรมการทำงานที่เราทำมา คำถามก็คือมันต่างกันยังไง คนไทยเราอาจจะไม่ค่อยตายตัว เวลาไม่ค่อยเป๊ะ แต่คนญี่ปุ่นคือทุกอย่างต้องเป๊ะ ละเอียด พูดง่าย ๆ อย่างเช่นเวลาเรามาเที่ยวญี่ปุ่น เราจะประทับใจกับการบริการของร้านอาหาร เราชอบที่เสิร์ฟอาหารแบบร่าเริงสดใส ทำร้านสะอาด

แต่ถ้าเรามองในมุมกลับกัน เราเป็นพนักงาน เราก็ต้องทำให้มันเป๊ะแบบนั้น มันก็จะค่อนข้างเครียดพอสมควร เพราะฉะนั้นพี่ก็ต้องปรับตัวอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่คนในทีมใจดีมาก แต่เราไม่เคยต้องมาทำอะไรที่เป๊ะ ๆ ขนาดนี้ เช้ามาก็ต้องมีประชุมเช้า ต้องมีรายงานเรื่องนู้นนี่นั่น ซึ่งทุกอย่างก็จะละเอียดมาก เราไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ด้วยความไม่เคยชินก็เลยทำให้พี่ทรมานมากในปีแรก”

 

นอกจากการทำงานแล้วมีเรื่องอื่นอีกไหมที่ต้องปรับตัว

“เราต้องสนุกไปกับทุก ๆ เรื่อง เช่น อากาศ แน่นอนว่ามันไม่เหมือนเมืองไทย เรื่องอาหารการกิน อาจจะมีร้านของคนไทยที่เราสามารถหาซื้อผักหรืออะไรได้ แต่ราคาก็แพงเป็น 3 เท่าของที่ไทย เราก็ต้องทำใจ แต่โอเค ค่าครองชีพอาจจะสูงแต่รายได้มันก็สูง เราก็พอซื้อได้ ค่าครองชีพเมื่อเทียบกับรายได้แล้วมันก็ไม่ได้แพงหนักหน้าเท่าไหร่ ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ทุกคนอาจจะถามว่าเป็นยังไง คือเราได้มาเยอะก็จริง แต่ก็ต้องจ่ายภาษีเยอะเหมือนกัน ภาษีเงินได้ค่อนข้างสูง ภาษีผู้พำนักอาศัยก็ต้องจ่ายทุก ๆ เดือน จ่ายภาษีเยอะแต่ก็มีสวัสดิการจากรัฐเยอะเหมือนกัน”

 

ญี่ปุ่นไม่ใช่รัฐสวัสดิการแต่ก็มีสวัสดิการเยอะกว่าเมืองไทย?

“ไม่ใช่ แต่สวัสดิการที่เราจะได้จากรัฐจะมีเยอะ อย่างเช่นเรื่องประกัน เราจ่ายค่าประกันให้กับรัฐใช่ไหม ก็จะมีประกันสังคม ตอนแรกพี่ไม่ได้สนใจอะไรจนกระทั่งท้อง ซึ่งได้เงินช่วยจากรัฐเยอะมาก ตอนคลอดเขาจะให้ค่าทำคลอด 420,000 เยน เป็นเงินไทยก็แสนกว่าบาท แต่คลอดในกรุงโตเกียวราคาก็อาจจะมากกว่า 420,000 เยนอยู่แล้ว แต่ก็มีเงินช่วย อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งนะที่เขาช่วย เปรียบเทียบกับเมืองไทยเราได้อะไรกลับมาบ้าง”

 

เริ่มเข้าใจหัวอกคนเสียภาษีที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

“แต่ที่นี่เขาก็มีระบบเยอะ มีการลดหย่อน ซึ่งก็ดูสนุกสนาน ลดหย่อนได้เฮฮาดี ชอบ ๆ (หัวเราะ)”

 

มีปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่น แต่เป็นการศึกษาไทย คือไม่ได้สอนเรื่องการคำนวณภาษี การเสียภาษี

“อันนี้พี่มาถึงพี่ก็งงเหมือนกันนะ เพราะอยู่ที่เมืองไทยเราไม่เคยทำอะไรอย่างนี้มาก่อน แต่ว่าพอเรามาที่นี่เราก็ต้องเริ่มเรียนรู้ แล้วเป็นระบบภาษีที่ซับซ้อนมาก จ่ายเงินระบบบำเหน็จบำนาญอะไรก็ไม่รู้ ต้องเรียนรู้เยอะมากเหมือนกัน”

 

 

อันนี้อาจจะเป็นคำถามที่ทุกคนสนใจว่าที่ญี่ปุ่นหางานยากไหม

“อัตราการว่างงานก่อนโควิด-19 ของที่นี่ประมาณ 2.6% ซึ่งเมืองไทยประมาณ 0.4% อาจจะดูไม่ต่างกันมาก แต่ระบบการทำงานเขาต่างกับคนไทย คือเข้าทำงานในบริษัทไหนแล้วเนี่ย ส่วนใหญ่ก็จะทำงานที่เดียวไปตลอดชีวิต เพราะว่าไม่เหมือนเมืองไทยที่ยิ่งเปลี่ยนงานยิ่งเงินเดือนเยอะขึ้น ที่ญี่ปุ่นจะดูเป็นภาพลบนิด ๆ ว่าคนนี้เปลี่ยนงานมาบ่อย แต่ปัจจุบันก็เริ่มมีนะ มีเพื่อนร่วมงานที่ย้ายงานบ่อย ๆ เหมือนกัน”

 

ส่วนใหญ่คนไทยที่ไปทำงานอยู่ญี่ปุ่นเขาทำงานอะไรกัน

“ไม่ค่อยแน่ใจแต่ว่าก็เป็นพนักงานบริษัท ทำร้านอาหารไทย ส่วนก็ทำร้านอาหารไทย หรือเป็นแรงงานกันเยอะ”

 

แรงงานในภาคบริการเหรอครับ

“ใช่ในภาคบริการ ในภาคอุตสาหกรรมก็เยอะนะ อย่างในแถบเซนได อิบารากิ แถบโรงงานอุตสาหกรรมอะไรพวกนี้ก็จะเป็นแรงงานค่อนข้างเยอะ แล้วคนที่จบมหาวิทยาลัยอาจจะมาทำงานบริษัทก็มี”

 

หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพในหัวเท่าไหร่ พูดกันตามตรงคือญี่ปุ่นไม่เหมือนกันอเมริกา หรือในยุโรป ออสเตรเลียที่ดูจะเปิดรับคนต่างชาติมากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศในฝันของคนไทยหลายคน แล้วสำหรับคนที่อยากไปญี่ปุ่นควรจะประกอบอาชีพอะไรดี หรือว่าควรเรียนทางด้านไหนมาถึงจะทำงานที่ญี่ปุ่นได้ง่าย

“ถ้าอยากได้เงินเดือนสูง ๆ เลยอาจจะเป็นวิศวกรหรือว่าไอที ตอนนี้บริษัทด้านไอทีอย่าง Line เป็นบริษัทที่ค่อนข้างบูมมาก ขยายกิจการค่อนข้างหลายแขนง เพราะฉะนั้นอาจจะเรียนด้านระบบ ด้านไอที เรื่องระบบการจัดการ การวิเคราะห์ข้อมูล อันนี้มองในมุมธุรกิจที่เราสามารถเป็นพนักงานบริษัทได้นะ หรือว่าใครที่อยากเป็นฟรีแลนซ์ ก็จะคล้าย ๆ กับที่เมืองไทย คือขายของตามอินสตราแกรมก็มี แต่เขาอาจจะไม่ค่อยนิยมใช้กันเท่าไหร่ เขาจะมีแอปพลิเคชันคล้าย ๆ กันที่เอาไว้ซื้อขายกันเองง่าย ๆ ก็จะเป็นอะไรที่เราทำได้โดยที่ไม่ต้องทำงานบริษัท หรือว่าง่าย ๆ เลยก็เปิดร้านอาหารไทย รับสอนภาษาไทย”

 

สำหรับคนไทย ญี่ปุ่นดูไม่ค่อยเปิดรับต่างชาติเท่าไหร่ แต่จริง ๆ แล้วเขาต้อนรับต่างชาติมากขึ้นไหม

“พี่ว่ามากขึ้นเพราะว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าปีที่แล้วควรมีการจัดงานโอลิมปิกที่ญี่ปุ่น เขาจะต้อนรับคนต่างชาติมากขึ้น แล้วคนญี่ปุ่นพยายามจะพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างชาติให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นคนต่างชาติที่เข้ามาก็จะอยู่ได้ง่ายขึ้น เมื่อ 8 ปีก่อน พี่เดินตามถนนจะได้ยินภาษาต่างชาติจากนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้ก็จะได้ยินจากคนญี่ปุ่นมากขึ้น จะเห็นคู่รักที่เป็นคนญี่ปุ่นกับคนต่างชาติเยอะขึ้น พี่คิดว่าเขาจะรับคนต่างชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ จะมีเด็กลูกครึ่งเยอะขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะอยู่ง่ายขึ้น มันจะเป็นไปในแนวโน้มนั้น”

 

คนที่เป็นลูกครึ่งเขาจะโดนบูลลี่กันไหม

“เคยได้ยินว่ามีนะ ถ้าเป็นในปัจจุบันนี่ไม่แน่ใจ แต่ว่าดูในทีวีก็มีการบูลลี่ลูกครึ่งอยู่ คนนั้นเขามาเล่าประสบการณ์ว่าในอดีตโดนบูลลี่ตั้งแต่สมัยประถม มันก็เป็นเรื่องเมื่อสิบปีก่อน แต่ในปัจจุบันพี่ก็ฟังจากเพื่อนร่วมงานว่าลูกเขาอยู่อนุบาลแล้วมีเพื่อนเป็นเด็กลูกครึ่งฟิลิปปินส์ เขาก็ไม่ได้โดนบูลลี่อะไร”

 

พูดง่าย ๆ ว่าคนญี่ปุ่นเขาก็ปรับตัวเข้ากับโลกมากขึ้น ไม่ได้ชาตินิยมจัดเหมือนในอดีตแล้ว

“ใช่ อาจจะมีเหลืออยู่บ้าง แต่สำหรับพี่ที่อยู่มา 8 ปี พี่คิดว่ามันดีขึ้นเยอะ”

 

มันจะมีภาพออกมาที่พนักงานรถไฟที่ญี่ปุ่นถือป้ายว่า คิดถึงคนไทย ถ้าเป็นแต่ก่อนอาจจะไม่เห็นภาพนี้เลย

“ใช่ ๆ เห็นอยู่ เพราะว่าคนไทยมาเที่ยวเยอะ หลังจากที่ไม่ต้องขอวีซ่ามาเที่ยวญี่ปุ่น เขาจะให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวจากแถบเอเชียเยอะมาก”

 

เคยมีคนพูดว่า “ญี่ปุ่นเหมาะกับการเที่ยว แต่ไม่เหมาะกับการอยู่” คิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้บ้าง

“เห็นด้วย อันนี้เห็นด้วย (หัวเราะ) ถ้าเราชินที่ไหนเราก็อยู่ได้ แต่ถ้าเราไม่ชินที่ไหนมันก็ไม่เหมาะ อย่างที่บอกว่าปีแรก ๆ พี่ไม่ชิน เรารู้สึกว่าประเทศนี้ดีทุกอย่าง แต่เราไม่สนุกกับการทำงาน มันก็ไม่เอ็นจอย เพราะทั้งวันเราก็ทำงานที่ออฟฟิศ เราอาจจะเคยได้ยินว่าคนญี่ปุ่นทำงานจนตาย คือสังคมเขาเครียดจนฆ่าตัวตายก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราไม่ชินกับสภาพแบบนั้น มันก็อาจจะไม่ดีกับสภาพจิตใจเรา ทำให้เราไม่สนุกกับการใช้ชีวิต”

 

ถ้าเราย้ายไปอยู่ประเทศไหนแล้วเราก็ต้องมองหาข้อดีของเขา ถ้าเกิดไปมองแต่ข้อเสีย มันก็ไม่มีความสุขในการอยู่หรอก

“ถูกต้อง จริง ๆ มันก็จะมีเรื่องยิบย่อยนะ การใช้ชีวิตประจำวันมันไม่เหมือนกับที่เราเคยเป็นมา แต่ถ้าเราคิดแต่เรื่องจุกจิก เราก็ไม่สามารถอยู่ได้”

 

จาก 8 ปีที่อยู่มา คิดว่าญี่ปุ่นมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง

“ข้อดีเหรอ คุณภาพชีวิตดีขึ้นมากแน่นอน การเดินทาง หรืออย่างเช่นทางเท้า เราเดินได้อย่างสบายไม่ต้องกังวล ผู้หญิงเราใส่ส้นสูง เราก็เดินโดยไม่ต้องกังวลว่ากระเบื้องนี้จะมีน้ำกระฉอกขึ้นมารึเปล่า เวลากลับเมืองไทยพี่คิดตลอดเวลาเลยนะ เดินฟุตบาทเมืองไทยเหมือนเราเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา จะกระฉอกขึ้นมารึเปล่า (หัวเราะ) อันนี้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราคิดว่ามันดีกับเรา การเดินทางเขา รถไฟ รถบัส ทุกอย่างมันดีมาก ถามว่าแพงไหม มันก็แพงกว่าที่ไทย แต่ว่ามันก็สะดวกกว่าเยอะ ไม่มีรถติด รถเมล์ตรงเวลา ทำให้ชีวิตเราคล่องสะดวกตัวมากขึ้น สวัสดิการแรงงานก็ดี เรื่องประกันสังคม บำเหน็จ บำนาญ มีอยู่แล้วแน่นอน เราไม่ต้องกังวลเลย

เพราะญี่ปุ่นเขาจะคำนึงถึงว่าหลังเกษียณเนี่ย เราจะใช้ชีวิตยังไง รัฐเขาจะให้เงินขนาดนี้เท่านี้ อย่างที่หลายคนอาจจะทราบว่าประชากรญี่ปุ่นตอนนี้มีผู้สูงวัยค่อนข้างเยอะ เป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นรัฐจะให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุด้วย คือให้คนสูงอายุมีชีวิตที่ดี แล้วถ้าเราเจ็บป่วยหรือต้องใช้บริการบำบัดร่างกาย เขาก็ช่วยสนับสนุนเงินตรงนี้ อย่างเช่นตอนนี้พี่ท้องต้องไปโรงพยาบาล พี่ก็จ่ายแค่ 30% หรือว่าอย่างเด็กไปโรงพยาบาลก็ฟรีตลอดจนถึงมัธยมต้น ไม่ต้องเสียค่าพยาบาลใด ๆ”

 

ถ้าเราเจ็บป่วยสามารถไปหาหมอได้เลยไหม หรือว่าต้องนัดคิวก่อน เหมือนเมืองไทยไหมที่เราสามารถไปหาหมอได้ตลอดเวลา

“เรื่องการไปหาหมอถ้ามองจากมุมมองคนไทยอาจจะลำบากนิดนึง เพราะต้องนัดคิวก่อน จะไปก็ไปได้แต่ว่าต้องรอนาน ถ้านัดคิวก่อนจะง่ายกว่า อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อนเป็น Golden week ของญี่ปุ่น เขาจะหยุดยาวกัน ฉะนั้นใน Golden week ถ้าเราไม่ได้จะเป็นจะตายโรงพยาบาลไม่เปิดให้เราเข้านะ มันไม่เหมือนที่เมืองไทย แล้วก็อย่างธนาคาร ที่เมืองไทยเราจะมีธนาคารอยู่ตามห้าง เราสามารถไปทำธุรกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ได้ หรือว่าหลังทุ่มนึง แต่ที่นี่ไม่มี เพราะฉะนั้นเราต้องทำธุรกรรมให้เสร็จภายในบ่ายสามโมงวันธรรมดา”

 

 

เรื่องสิทธิการลาคลอดที่ญี่ปุ่นสามารถลาคลอดได้กี่วัน

“พี่ไม่เคยสนใจเลยนะ จนเราท้องเอง คือเขามีกฎหมายรองรับเลยว่าก่อนคลอด ถ้าเป็นลูกคนเดียว สามารถลาคลอดได้ 6 สัปดาห์ หลังคลอดสามารถลาได้ 8 สัปดาห์ อันนี้ทุกคนต้องลาตามกฎหมาย ถ้าบริษัทไม่อนุญาตก็ผิดกฎหมาย จะโดนปรับหรือจับก็ว่ากันไป แล้วหลังจากนั้นสามารถลาเลี้ยงบุตรได้นานปีครึ่งถึงสองปีแบบไม่ได้รับเงินเดือน แต่ว่าจะมีเงินช่วยจากรัฐ สมมติว่าถ้าลาเลี้ยงบุตร 2 ปี ครึ่งปีแรกเราจะได้เงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือน หลังจากครึ่งปีเราจะได้เงิน 2 ใน 3 ของเงินเดือน เรามีสิทธิลาได้ยาว เราสามารถอยู่กับลูกได้เป็นปี

ซึ่งคิดว่ามันมีพื้นฐานมาจากปัญหาสังคมของคนญี่ปุ่น คือ เขามีสถานรับเลี้ยงเด็กไม่พอ ครอบครัวของคนญี่ปุ่นไม่เหมือนกับคนไทยที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาช่วยกันเลี้ยงดู แต่ที่ญี่ปุ่นจะเป็นแค่พ่อแม่อยู่ด้วยกันสองคน เพราะฉะนั้นต้องให้พ่อแม่คนใดคนหนึ่งเลี้ยงลูก รอกว่าลูกจะได้เข้าโรงเรียน จากปัญหาสังคมเกิดขึ้นมาเป็นสวัสดิการเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ง่ายขึ้น”

 

เขาดูหยิบปัญหาสังคมที่เขามีมาทำเป็นสวัสดิการ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ใช่ ล่าสุดที่นายกฯ คนใหม่เขาหยิบขึ้นมาคือเรื่องการเพิ่มเงินช่วยเหลือสำหรับคนที่ไม่สามารถมีบุตรได้ เพราะว่าญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องอัตราการเกิดต่ำมาก ฉะนั้นเขาก็จะช่วยให้คนญี่ปุ่นเร่งมีบุตรเพิ่มขึ้น เขาจะเพิ่มเงินช่วยเยอะมาก”

 

ข้อเสียของญี่ปุ่นคืออะไร

“ข้อเสียอาจจะพูดไปแล้วว่าถ้าเรามาแบบไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลย อันนี้ตกม้าตายเหมือนกันนะ (หัวเราะ) เพราะทุกอย่างเป็นภาษาญี่ปุ่น เขาเปิดรับคนต่างชาติ เขาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้นก็จริง แต่มันก็จะเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าถ้าเกิดเรามาใช้ชีวิตประจำวันอาจจะยากนิดนึง เขายังไม่สามารถสื่อสารกับเราได้มากขนาดนั้น เราก็ต้องเตรียมตัวเรื่องภาษานิดนึง จะเป็นข้อเสียของคนญี่ปุ่นที่เขาไม่เป๊ะขนาดนั้น

แล้วก็จะเป็นเรื่องการเมืองเศรษฐกิจ ถ้าจะพูดในภาพรวม อย่างปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ญี่ปุ่นยังไม่มีวัคซีน เขาจะฉีดให้กับเจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล และผู้สูงอายุก่อน ซึ่งอัตราคนที่ได้รับวัคซีนก็ยังไม่ได้สูงขนาดนั้น คือคนญี่ปุ่นจะทำอะไรทีต้องมั่นใจก่อนแล้วค่อยทำ ทุกอย่างจะไปแบบช้าเนิบ ตามขั้นตอนมาก”

 

เคยอ่านเจอบทความชิ้นหนึ่งว่า ด้วยวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นจะเป็นคน Play safe แล้วด้วยความชาตินิยมด้วย ถ้าอะไรที่ไม่มั่นใจจะไม่ใช้ และจะมั่นใจกับวัคซีนที่ผลิตในญี่ปุ่น

“ใช่ ทุกอย่างที่ผลิตในญี่ปุ่นต่อให้แพงก็จะเลือกใช้อันนั้น อย่างซื้อผัก ถ้าเราเลือกซื้อเราก็จะซื้อของถูก แต่คนญี่ปุ่นจะเลือกอะไรที่ผลิตในญี่ปุ่น ผักก็จะเลือกที่ปลูกในญี่ปุ่นต่อให้แพงแค่ไหนก็จะขายดี ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งคือประเทศญี่ปุ่นมีภัยพิบัติเยอะ พี่คิดว่าที่เราอยู่เมืองไทยแบบสบาย ๆ ไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนหนึ่งคือเราไม่มีภัยพิบัติเยอะเท่าไหร่นะ แต่ที่นี่มีทุกอย่าง แผ่นดินไหว สึนามิ ไต้ฝุ่น

ด้วยความเป็นประเทศเกาะ เราอยู่กับแผ่นดินไหวจนเป็นธรรมชาติของมันไปแล้ว แต่นั่นก็ทำให้ประเทศเขาปรับตัวเข้ากับภัยพิบัติเพื่อให้อยู่รอดได้ ตึกรามบ้านช่องของเขาสร้างมาให้อยู่กับภัยพิบัติได้ แน่นอนว่าภัยพิบัติมันเกิดขึ้นที่มุมใดของโลกก็ได้ แต่ตึกอาคารบ้านเรารับกับภัยพิบัติได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ที่ญี่ปุ่นจะมีกฎหมายเลยว่าตึกสูงขนาดนี้ต้องรับแผ่นดินไหวได้กี่ริกเตอร์

คือเราก็จะมั่นใจได้ระดับนึงว่าเราจะปลอดภัย แล้วเวลาคุยกับคนญี่ปุ่นจะตลกมากช่วงแรก ๆ เวลาบอกเขาว่าจะย้ายบ้านนะ เขาจะถามเลยว่าย้ายไปตรงไหน ดูแผนที่ภัยพิบัติหรือยังว่าเป็นยังไง เขาจะเซนซิทีฟกับเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติมาก”

 

เหมือนคนไทยทักกันว่ากินข้าวมารึยัง คนญี่ปุ่นก็ทักว่าบ้านเป็นยังไงบ้าง (หัวเราะ)

“ใช่ ๆ เขาจะเซนซิทีฟกับเรื่องนี้มาก จนกลายเป็นเรื่องปกติของเขาแล้ว”

 

คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกไหมที่ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น

“คิดถูก แล้วก็คิดว่ายังไม่อยากกลับไปในตอนนี้ ในบั้นปลายชีวิตไม่แน่ใจ แต่ว่า ณ ตอนนี้ที่เรายังมีแรงทำงาน เรายังสามารถเดินทางได้ เที่ยวได้ พี่คิดว่าประเทศนี้คล่องตัวกับชีวิตพี่มากกว่า มันอาจจะแล้วแต่คน แต่การอยู่ที่นี่ทำให้เรามีรายได้มั่นคง อย่างที่บอกว่าบริษัทที่ทำงานอยู่เป็นบริษัทที่ค่อนข้างมั่นคง แล้วพอเราเข้ามาทำงานกับเขาแล้ว ธรรมเนียมของคนญี่ปุ่นคือทำงานตลอดชีวิต เขาจะไม่ค่อยไล่พนักงานออกถ้าไม่ทำอะไรร้ายแรงจริง ๆ ไม่มีการลาออกมากเท่าไหร่

เราแน่ใจว่าเราจะอยู่กับบริษัทนี้ไป 80% เราจะมีเงินเดือนขึ้นไปตามขั้นแบบนี้ เราจะมีรายได้เท่านี้ เราสามารถวางแผนชีวิตได้ว่าอายุ 40 ปี เราจะมีเงินเดือนขึ้นประมาณนี้ มันง่ายกับการวางแผนชีวิต แต่ว่าบางคนอาจจะไม่ชอบว่าอายุเท่านี้เงินก็ขึ้นตามขั้นแบบนี้ เพราะอาจจะคิดว่าก็สามารถทำได้มากกว่านี้ควรได้เงินมากกว่านี้สิ ก็แล้วแต่คน”

 

ญี่ปุ่นยังใช้ระบบอาวุโสตามอายุงานอยู่

“ก็ผสมผสานมากขึ้นนะ เขาจะรับเด็ก ๆ ที่มีความสามารถมากขึ้นเพื่อปรับภาพลักษณ์ของบริษัทเขา เช่น Amazon, Google Japan หรือบริษัทการเงินของญี่ปุ่นสมัยนี้ก็จะพยายามปรับภาพลักษณ์ไม่ให้ดูเป็นบริษัทคร่ำครึ พูดง่าย ๆ ว่าที่ผ่านมาเราอาจมองว่าพนักงานบริษัทญี่ปุ่นต้องใส่สูทผูกไทด์ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา พนักงานธนาคารที่อยู่บริษัทการเงิน เขาออกมานำร่องให้ทุกคนใส่ชุดไปรเวทมาทำงานได้ เป็นการปรับภาพลักษณ์ของบริษัทมาก ๆ ทำให้ดูทำงานกันหลวม ๆ สบายขึ้น รับวัยรุ่นมากขึ้น”

 

คนญี่ปุ่นเองก็มีการปรับตัวเข้ากับโลกเหมือนกัน

“ช่วงนี้คิดว่าค่อนข้างมากเหมือนกัน”

 

สุดท้ายครับ อยากจะบอกอะไร หรือให้กำลังใจกับคนที่คิดจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นก็ดี หรือประเทศอื่น ๆ ก็ดี

“พี่ว่าต้องดูวัตถุประสงค์ในการย้ายไปว่าคืออะไรมากกว่า ย้ายไปทำงานหรืออยากไปท้าทายชีวิต ก่อนไปต้องศึกษาประเทศนั้นก่อนว่าไปแล้วอยู่ได้ไหม เรามีพื้นฐานที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมหรือสังคมประเทศนั้นได้ดีแค่ไหน เราจะได้ไม่ต้องเสียใจว่ากลับเมืองไทยดีกว่า เพราะยังไงเมืองไทยก็เป็นบ้านเกิดเรา เรากลับไปเราพูดภาษาได้ เรามีญาติมีครอบครัวกลับเมื่อไหร่ก็ได้ก็จริง แต่ว่าถ้าเราไปแล้วเราก็อยากจะสนุก อยากจะมีความสุขกับประเทศใหม่ของเรา

เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเตรียมตัวมากนิดนึง ถ้าเกิดเราไปแล้วเราสามารถอยู่ได้ เราอาจจะอยู่ได้นานและรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จกับการตัดสินใจครั้งนี้ ก็ต้องมีการเตรียมตัวและแน่ใจมาก ๆ พี่คิดว่าการวางแผนเป็นสิ่งที่สำคัญ หรือบางคนอาจจะอยากท้าทายไปเลยว่าโลกนี้ไม่น่ากลัว ก็อาจจะแล้วแต่คน”

 

ต้องเลือกประเทศก่อนว่าอยากไปประเทศไหน

“ใช่ คนที่ได้ภาษาอังกฤษอาจจะมีหลายตัวเลือก ถ้าญี่ปุ่นก็อาจจะลำบากหน่อย ถ้าไม่ได้ภาษาญี่ปุ่นจะยากนิดนึง”

 

ควรจะเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นเขาเอาไว้ แล้วก็วางแผนให้ดี

“ถูก ไปปุ๊บก็อาจจะยากนิดนึง ถ้าเราอยู่ในสังคม เราก็ควรรู้เรื่องการเมือง เรื่องระบบสวัสดิการ โครงสร้างสังคม”

 

วันนี้ก็ต้องขอบคุณพี่ปอยมากนะครับ ที่อุตส่าห์เสียสละเวลามาให้เราได้ปรึกษาพูดคุยกัน สุดท้ายแล้วการย้ายประเทศมันเป็นไปได้ไหม แล้วมันเป็นไปได้ยากรึเปล่า

“ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณที่ให้มาแชร์ประสบการณ์ พี่คิดว่าในโลกปัจจุบันเราสามารถย้ายได้ ถ้าเราตัดเรื่องโควิด-19 ไปที่เราไม่สามารถขยับตัวไปไหนมาไหนตอนนี้ได้ พี่คิดว่าเราสามารถย้ายไปไหนก็ได้อย่างอิสระ เพราะโลกค่อนข้างจะเปิดรับกันมากขึ้นแล้วในแต่ละประเทศ เราแค่ทำให้มันถูกต้องตามกฎระเบียบของเขาก็พอแล้ว

หลังจากนั้นเราค่อยไปท้าทายเอาดูก็ได้ว่าเราสามารถอยู่รอดในประเทศเขาได้ไหม ซึ่งมันก็เป็นอะไรที่น่าลองถ้าใครที่คิดว่าเรายังมีแรงใช้ชีวิต มันก็น่าสนใจดี”

 

เคยมีคนบอกว่าถ้าเราอยากจะไปให้ถึงเป้าหมาย แล้วมามัวนั่งคิดว่าจะไปอย่างไรดี มันก็ไม่ได้ไปสักที แต่ถ้าเราเริ่มออกเดินทางก่อน เราจะรู้เองว่าไปเส้นทางไหนจะไปถึงเป้าหมาย

“ใช่ พี่คิดว่าการฟังพอดแคสต์วันนี้อาจจะทำให้คนที่อยากย้ายประเทศก็เริ่มเรียนรู้แล้วนะ เป็นอีกหนึ่งการวางแผนแล้ว เราได้ข้อมูลแล้วว่าเราไปประเทศนี้ได้ เราอาจจะมีแรงบันดาลใจมากขึ้น เก็บข้อมูลยิบย่อย ๆ ในแต่ละวัน มันเป็นการเริ่มต้นวางแผนแล้ว”

 

แน่นอนนะครับว่าการล่องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญคือก่อนจะซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราต้องหาข้อมูลและวางแผนก่อนอย่างอื่นนะครับเพราะการต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดนที่เราไม่รู้จักใครเลยซึ่งมันไม่ใช่เรื่องสนุกเลยนะครับ ที่สำคัญคือเมื่อเราต้องการไปเริ่มต้นชีวิตใหม่แล้วจริง ๆ ก็ไม่ต้องรีรอครับเริ่มเก็บกระเป๋าซื้อตั๋วเครื่องบิน ชีวิตใหม่กำลังรอเราอยู่แล้ว เราจะไปอยู่ในต่างประเทศแล้วอย่าลืมว่าเข้าเมืองเหล่ยเหล่ยเหล่ยเหล่ยเฉียวถันมองหาของเขาเอาไว้ และปรับตัวเข้ากับข้อเสียให้ได้ เพราะถึงยังไงเราก็มาอยู่ในประเทศของเขาแล้วใช้ชีวิตให้มีความสุขไว้ก่อนดีกว่า

 

Category:

Passion in this story