คนส่วนใหญ่รู้จัก Bitkub ว่าเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และ ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Bitkub เป็นซีอีโออายุน้อยที่น่าอิจฉาที่สุด แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า หนทางที่ท๊อปก้าวเดินมานั้นทั้งยากลำบากและขรุขระ กว่าที่จะก้าวมาถึงจุดนี้
Bitkub เป็นบริษัทสตาร์ตอัปที่ก่อตั้งมาเพียง 3 ปีแต่เป็นบริษัทที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตมหัศจรรย์ปีละ 1,000% ติดต่อกัน 3 ปี จากผลกำไร 3 ล้านบาทในปีแรก ในปี 2564 Bitkub อาจจะทำกำไรได้ถึง 3000 ล้านบาท อะไรเป็นเบื้องลึกเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรระดับท็อปที่เด็กรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุดในชั่วโมงนี้
Passion Gen จึงถอดประสบการณ์ มุมมองความคิด และการออกแบบองค์กรระดับพันล้านของ ท๊อป-จิรายุส เพื่อเป็นบทเรียนให้คนและองค์กรรุ่นใหม่ได้ศึกษาว่า ทำอย่างไรถึงจะก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น และทำอย่างไรจึงจะก้าวให้ไกลไปสู่จุดหมายของ Bitkub
ติดตามการเผยเบื้องลึกแบบหมดเปลือกจาก ท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Bitkub ที่จะมาถอดทุกบทเรียนความสำเร็จแบบเลกเชอร์…สมุดปากกา พร้อม…
“บริษัทคือค่าเฉลี่ยของคน ถ้าคนไม่เก่งบริษัทก็ไม่เก่ง ฉะนั้นถ้ากลุ่มคนนี้เป็นกลุ่มคนที่เก่งมาก ๆ เราก็จะได้บริษัทที่เก่งมาก ๆ”
ท๊อป- จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO BitKub
ในการจัดการองค์กรของรุ่นใหม่ ต้องคิดอย่างไร ทำอย่างไร?
ต่างยุคก็ต่างสมัยกัน ในยุค Industrial Revolution ของ GenX สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ Mass Production ผลิตสินค้าให้มากที่สุดในต้นทุนที่ต่ำที่สุด วิธีการจัดการองค์กรก็คือ แบบ Top-Down สั่งจากข้างบนลงมา มีลำดับขั้นตอนเป็นขั้น ๆ ไป แล้วมีกระบวนการเยอะ ๆ มาคุม เป้าหมายคือต้องการลดความผิดพลาด เพราะความผิดพลาดหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เราต้องการให้ต้นทุนต่ำที่สุด ผลิตสินค้าออกมาให้มากที่สุด จึงต้องมีกระบวนการมาครอบ รูปแบบพนักงานที่เก่งในยุคนั้นคือ พนักงานที่ทำตามคำสั่ง สั่งซ้ายไปซ้าย สั่งขวาไปขวา
ส่วนยุคนี้เป็นยุคของข้อมูลและอินเทอร์เน็ต การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา สมมุติฐานเดิม ๆ ที่เคยใช้ได้ ใช้ไม่ได้แล้ว โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ บริษัทที่เหมาะกับยุคนี้คือบริษัทที่มีความยืดหยุ่นไปตามโลกที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว องค์กรต้อง Flat ที่สุดแล้วเราต้องเอากระบวนการที่วุ่นวายออก เพราะกระบวนการยิ่งมีมากยิ่งจำกัดจินตนาการ องค์กรรุ่นใหม่ต้องเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่น แล้วต้องเอาคนเก่งที่สุดมาอยู่ร่วมกันให้ได้ แล้วให้เขาเป็นคนทดลอง
องค์กรยุคใหม่ จึงไม่มีกระบวนการมากเหมือนในอดีต ผิดพลาดได้ไม่เป็นไรแต่ขอให้ทดลองสำคัญกว่า เป็นรูปแบบที่ไม่เน้นพิธีการอะไรมาก เน้นผลลัพธ์เป็นหลัก จะทำงานที่บ้านก็ได้ มาทำงานที่ออฟฟิศก็ได้ ใครมีไอเดียอะไรก็มานำเสนอ กล้าพูด กล้าถกเถียง กล้าท้าทาย จับมือกันลงเรือลำเดียวกันแล้วลุยเต็มที่
และทีมแต่ละทีมต้องกินพิซซ่า 2 ถาดอิ่ม คือขนาดของทีมงานจะต้องไม่ใหญ่เกินไป ถ้าทีมใหญ่เกินพิซซ่าต้องแตกทีมออกให้ทีมเล็กลง
อยากให้แชร์เรื่องการรับคนเก่งเข้าทำงานให้ฟังนิดหนึ่ง
บริษัทคือค่าเฉลี่ยของคน ถ้าคนไม่เก่งบริษัทก็ไม่เก่ง บริษัทเป็นค่าเฉลี่ยของคนที่มาทำงานร่วมกัน ฉะนั้นถ้ากลุ่มคนนี้เป็นกลุ่มคนที่เก่งเราก็จะได้บริษัทที่เก่งมาก ๆ บริษัทคือ “คน” การรับคนจึงสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้รับคนที่เก่งกว่าเราเรื่อย ๆ ไม่ใช่รับคนที่แย่ลง ถ้ารับคนที่แย่ลงเรื่อย ๆ บริษัทลงเขา B รับ C C รับ D D รับ E E รับ F ก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ ทำอย่างไรให้ B รับ A A รับ A+ A+ รับ A++ ให้บริษัทขึ้นเขา รับคนที่ใหญ่ขึ้นเก่งขึ้น เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ แทนที่จะเป็นบริษัทของคนแคระ
ฉะนั้นหน้าที่ของผู้บริหารจึงต้องดีไซน์องค์กร ดีไซน์อย่างไรให้คนและพนักงานกล้าที่จะรับคนที่เก่งกว่าเข้ามาทำงานให้ได้ กล้าที่จะรับคนที่เงินเดือนเยอะกว่ามาทำงานให้ได้ เรื่องของการรับคนนี่คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะบริษัทคือค่าเฉลี่ยของคน
ทำอย่างไรเขาถึงอยากรับคนที่เก่งกว่าเขามาทำงาน ?
ที่ Bitkub ก็จะมีเทคนิคครับ อย่างที่หนึ่งก็คือ ถ้ามี Operation Junior สมัครเข้ามา 100 คน เราจะส่งแบบทดสอบให้ 100 คน ปกติจะตอบกลับมา 50 คน ก็จะคัดออกไป 50 คน ในจำนวนนี้ทำแบบทดสอบผ่านครึ่งหนึ่งก็คัดออกไป 25 คน เหลือแค่ 25 คน เข้ามาสัมภาษณ์แล้วผ่านแค่ 10 คน 10 คนนี้สัมภาษณ์กับ Operation Manager สัมภาษณ์ Hard Skill ที่ตรงกับงาน อย่างที่สองคือ สัมภาษณ์ Culture Team คือทีมวัฒนธรรมองค์กร ก็จะมีทีมตัวแทนที่เป็น Culture Ambassador ของเราก็จะมาดูเรื่อง Soft Skill และ Mindset ว่าตรงกับองค์กรเราไหม รอบนี้อาจจะเหลือ 3 คน
จากนั้นเราจะมีทีมที่เรียกว่า “Bar Laser Team” เป็นทีมที่คัดว่าคนที่จะเข้ามาเก่งกว่าคนที่สัมภาษณ์หรือไม่
ทีมนี้มีสิทธิ์ในการ Veto เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่รับเข้ามามีสิ่งที่คนที่สัมภาษณ์ไม่มี
เมื่อหมดโปรเบชัน 3 เดือน ผมก็จะเรียกผู้จัดการ 2 คนที่ดูแลพนักงานคนนั้นเข้ามา สมมติว่าพนักงานคนนั้นชื่อ “เดวิด” ผมจะถามผู้จัดการ 2 คนนั้น 3 ข้อ 1. ถ้าวันนี้ผมไล่เดวิดออกคุณจะรับเดวิดกลับเข้ามาทำงานไหม เมื่อเทียบกับคนอีกจำนวนมากที่กำลังรับสมัคร ถ้า Manager บอกว่า เดวิดขาดไม่ได้เลยยังไงก็จะรับกลับเข้ามาอยู่ดี เดวิดก็จะผ่านข้อที่ 1
2. เดวิดทำให้วันจันทร์คุณน่าทำงานมากขึ้นไหม ถ้า Manager ตอบว่า แม้เดวิดจะเป็นจูเนียร์แต่ทุกการกระทำของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมาก เป็นตัวอย่างที่ดีให้ทีมเลย เดวิดก็ผ่านข้อ 2
3. ลองบอกมาว่าอะไรที่เดวิดเก่งกว่าคุณหนึ่งอย่าง ถ้า Manager พูดไม่ได้ว่ามีอะไรที่เก่งกว่าก็ไม่ผ่าน เพราะนั่นหมายถึง คุณกำลังรับ B Player เข้ามา แทนที่คุณจะรับ A Player หรือ A+Player เข้ามา
ความท้าทายของ Bitkub ในวันนี้ และเป้าหมายส่วนตัวคุณท๊อป มีอะไรที่อยากทำอีก ?
เป้าหมายขอธุรกิจสตาร์ตอัป คือการได้เป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น ผมเองก็หวังเช่นนั้น ส่วนเป้าหมายส่วนตัวถ้าทำได้อยากเอาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นบริษัทตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ของประเทศไทย ว่าประเทศไทยคนไทยก็เก่ง สามารถสร้างบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นระดับโลกได้ ถ้า Bitkub ทำได้ก็จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาลงมือทำเหมือนเรา ประเทศก็จะดีขึ้นไปข้างหน้า
ผมมองว่า 10-20 ปีที่ผ่านมาเมืองไทยเป็นเหมือน Lost Decade (ทศวรรษที่หายไป) ประเทศไทยควรจะมีความหวังบ้าง เราเกือบจะเป็นเมืองขึ้นทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว ที่ผ่านมา 10-20 ปี มีแต่ Grab, Uber, AirBNB, Lazada, Shopee เป็นของชาวต่างชาติหมดเลย ที่ดึงเงินของเราออกไปนอกประเทศเยอะมาก ก็เลยอยากที่จะเป็นความหวังให้กับประเทศไทยบ้าง
อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ คนที่ท้าทายแต่มีข้อบกพร่อง
ความสำเร็จไม่เคยได้มาง่าย เป็นสิ่งที่ต้องแลก ไม่อย่างนั้นทุกคนคงประสบความสำเร็จกันหมด แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่กล้าแลก ไม่กล้าแลกสิ่งสำคัญสิ่งอื่นในชีวิตกับความสำเร็จ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครได้หมดทุกอย่างในชีวิต คุณต้องยอมล้มเหลวบ้างในบางอย่างถ้าคุณอยากสำเร็จมากกว่าคนอื่นในบางอย่าง พระเจ้าให้ทุกคนมี 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ ถ้าคุณจะเด่นกว่าคนอื่นในด้านอื่น คุณก็ต้องล้มเหลวกว่าคนอื่นในด้านอื่นเช่นกัน เพราะเวลามีเท่ากันบนโลกใบนี้ ฉะนั้นกว่าผมจะมาจุดนี้ได้ผมก็ล้มเหลวมาเยอะมาก ๆ และความล้มเหลวเป็นทางผ่านของการประสบความสำเร็จทุกคน ไม่มีใครไม่ล้มก่อนประสบความสำเร็จ ไม่มีใครขี่จักรยานเป็นเลย ต้องล้มทุกคน
อยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่า มันต้องใช้ความอดทนในระยะเวลานานมาก ๆ อย่ามองท๊อป-จิรายุสแค่ Bitkub แต่ให้มองความยากลำบากตลอด 8 ปีที่ผ่านมา หรือความอดทนตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ต้องอ่านหนังสือวันละ 10-12 ชั่วโมง มันมีการฝึกความอดทนกว่าคนอื่นตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งความอดทนนี้เป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ขาด ในยุคนี้อยากได้อะไรต้องได้ทันทีเลย เทคโนโลยีทำให้ได้ทันที หิวข้าวขยับนิ้วโป้ง 30 นาทีอาหารมาถึงบ้าน แต่ข้อเสียคือ มันทำให้ความอดทนของเราน้อยลง แต่ความอดทนดันเป็นสกิลที่สำคัญมาก ๆ ของการประสบความสำเร็จ คุณต้องรับความเจ็บปวดได้มากกว่าคนอื่น เพราะทุกอย่างที่จะประสบความสำเร็จ ต้องผ่านอุปสรรคเยอะ ๆ ต้องมีคนมาขัด ต้องมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นตลอด เส้นทางไม่เรียบแน่นอน เพราะฉะนั้นคุณต้องรับความเจ็บปวดให้ได้ดี
อย่างที่สองก็คือ พยายามมองให้เห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น แล้วคุณต้องเป็นคนส่วนน้อยที่มองเห็นมัน โอกาสจะมากมายมหาศาลเลย อย่าไปมองเหมือนกันกับคนอื่น ไม่อย่างนั้นก็จะแชร์มาร์เกตแชร์กัน ผมจบออกซฟอร์ดมาก็ไม่ได้ฉลาดกว่าเพื่อนคนอื่นเลย พอจบแค่ผ่านมาได้เฉย ๆ แต่ที่ผมประสบความสำเร็จ เพราะผมเป็นคนที่ถูกมาก ๆ เกี่ยวกับบิตคอยน์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ผิดมาก ๆ กับบิตคอยน์ ผมเปิดบริษัทมาสองบริษัทไม่ได้ใช้เงินคุณพ่อคุณแม่สักบาท แล้วเชื่อว่าสิ้นปีนี้บริษัทกำลังจะเป็นยูนิคอร์น ถ้าธนาคาร ถ้าตลาดหลักทรัพย์เห็นสิ่งนี้เหมือนกัน ผมคงเกิดไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นเหมือนกับผม โอกาสประสบความสำเร็จก็คงน้อย
สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ต้องเป็นคนส่วนน้อยที่เห็นความเป็นจริงบางอย่างที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นมัน แล้วก็ตั้งใจทำมันนาน ๆ อดทนนาน ๆ สุดท้ายก็จะประสบความสำเร็จเอง
Bitkub ในวันนี้ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่เป็นธุรกิจที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ไมล์สโตนของ ท๊อป-จิรายุส จึงไม่ใช่แค่ชีวิตของคน ๆ หนึ่ง แต่เป็นแบบอย่างของความสำเร็จ และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่อีกหลายคน และในปีนี้ Bitkub จะสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้เกิดขึ้นกับสังคมด้วยการเป็นสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นรายแรกของไทย
ติดตามต่อ Passion Talk Episode 019 “เผยเบื้องลึกความสำเร็จ ของท๊อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” 20 พฤษภาคมนี้
Category: