การปลดล็อกกัญชาจากพืชเสพติด ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำไปใช้ในเชิงการแพทย์ อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกร สามารถปลูกพืชที่สร้างรายได้ดีที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไปตลอด 

เป็นโอกาสดีที่ passion talk ฉบับนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีความคิดก้าวหน้า ต้องการเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคม และเกษตรกรในพื้นที่ให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ แนวคิดในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์พิเศษ “กัญชา” พลิกฟื้นวิถีเกษตรกรอย่างไร?

 

 

สัมภาษณ์พิเศษ

อภิรักษ์ ปานเนตรแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนบึงยายเลี่ยม

ปิติสุรกาญจน์ รัศมีเดือน ประธานวิสาหกิจชุมชนสยามเจริญทรัพย์การเกษตร

อคิราภ์ วงศ์วรรณ รองประธานวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจโกโก้ชุมชนเผาเงา

อาทิตย์ คุณาศัย  ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนทุ่งในวัง

 

มุมมองของเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นอย่างไร

ปิติสุรกาญจน์ เราเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ของเราทำไร่ทำนามาก่อน ถ้าเราอยากพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนจริงๆ  ผมจึงต้องกลับไปบ้านไปพัฒนาบ้าน พัฒนาชุมชน นำพาเกษตรกร ให้มีความรู้ในเรื่องการแปรรูปการเกษตร ซึ่งเป็นหนทางในการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ดีที่สุด นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากกลับไปทำการเกษตรที่บ้าน

อคิราภ์ ครอบครัวมีพื้นฐานด้านการเกษตรมาอยู่แล้ว มีไร่ยาสูบที่มีกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกไร่รวม 3 หมื่นไร่ ปัจจุบันปลูกยาสูบ เมล่อน กล้วยไม้  ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการที่ยาสูบความต้องการลดลงเยอะมาก กลุ่มเกษตรกรจึงอยากหาพืชเศรษฐกิจใหม่เข้ามาทดแทน ซึ่งกัญชาเป็นหนึ่งในโอกาสนั้น

อาทิตย์ ส่วนใหญ่เกษตรกรในพื้นที่ยังประสบปัญหารายได้ ถ้าผมสามารถทำให้รายได้ต่อครัวเรือนของเกษตรกรเหล่านั้นเพิ่มขึ้นได้เพียงพอที่เขาจะเลี้ยงครอบครัวเขาได้ ก็เป็นโอกาสที่น่าทำให้สำเร็จ ซึ่งผมเชื่อว่ากัญชามีความเป็นไปได้

อภิรักษ์ ก่อนอื่นต้องมองก่อนว่ากัญชาไม่ใช่แค่พืชเสพติด วันนี้กัญชาสามารถไปใช้ในทางการแพทย์และเป็นพืชเศรษฐกิจท่ามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เปิดใจให้กว้างนิดนึง เราสามารถเอากัญชามาใช้ในงานต่างๆ ได้

ทำไมถึงสนใจปลูกกัญชา

อภิรักษ์ กรมแพทย์แผนไทย เปิดโอกาสให้เกษตรกรใช้ใน 2 ส่วน ส่วนแรก ช่อดอกกัญชา เราจะร่วมกับกรมแพทย์แผนไทยนำไปทำยา โดย 50% ให้กรมแพทย์แผนไทย ส่วนอีก 50% กรมแพทย์จะทำประโยชน์เกิดมูลค่าแล้วคืนส่วนแบ่งให้กับเกษตรกร ส่วนที่สอง ที่ต่ำกว่าช่อดอกลงมา ปัจจุบันถูกปลดจากยาเสพติดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิ่ง ก้าน ราก ใบ วิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะนำไปทำอาหาร เอาเส้นใยไปทำเครื่องนุ่มห่ม รวมถึงรากที่เอาไปยาแก้โรคปวดเข่าปวดข้อ เอาไปเข้าตำรับยาแผนไทยได้

อคิราภ์ คาดว่ากัญชาจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยเราวางแผนปลูกกัญชาสลับกับการปลูกยาสูบเดิม จากเดิมเพาะที่เราปลูกยาสูบเพียง  1 ครั้งต่อปีก็จะเพิ่มเป็น 2 ครั้งต่อปี คือ ปลูกยาสูบ 1 ครั้ง กัญชา 1 ครั้ง ซึ่งน่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น

ปิติสุรกาญจน์ ผมมองว่าเป็นกัญชาเป็นพืชที่ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราเห็นข้อมูลจากการศึกษาที่ชัดเจนว่า กัญชาเป็นพืชสมุนไพรเหมือนข่า ตะไคร้  ใบมะกรูด ที่สำคัญผู้ที่ใช้กัญชามีสุขภาพที่ดี เพราะกัญชามีคุณสมบัติที่สามารถฟื้นฟู บำบัด รักษาโรคได้

 

กัญชาจะพลิกฟื้นเกษตรกรได้อย่างไร

อภิรักษ์ กัญชาเปรียบกับพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันอยู่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เทียบแล้วมูลค่ากัญชาสูงกว่ามาก เพราะเป็นยารักษาโรค ไม่ใช่อาหาร ดังนั้นราคาของเขาทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นแน่นอน

แต่การปลูกกัญชา โดยเฉพาะในเกรดของการแพทย์ แน่นอนวาจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งแน่นอนเมื่อมีคุณภาพที่สูงกว่าก็จะขายได้ราคาที่ดีกว่า เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนกับปลูกข้าวนาปี ปลูกข้าวนาปรัง  และปลูกข้าวออแกนิก การลงทุนก็แตกต่างกัน ราคาขายที่ได้ก็แตกต่างกัน

ปิติสุรกาญจน์ สำคัญที่สุดเลยคือ รายได้ของเกษตรกร ถ้าเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง เขาจะกลับมาฟื้นฟูพืชไร่ของเขา ไม่ใช่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

 

ความท้าทายของการปลูกกัญชา

อาทิตย์ กัญชานั้นถ้าเกษตรกรไม่มีความรู้มาเลย อาจจะคิดว่าปลูกยาก แต่ถ้าได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่ากัญชาไม่ใช่พืชที่ปลูกยาก แน่นอนอาจจะมีศัตรูพืช หรือวัชพืชรบกวนบ้าง แต่ถ้าเราปลูกในโรงเรือน คุมอุณหภูมิได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

อภิรักษ์ ถ้าจะปลูกกัญชาเพียงอย่างเดียวผมไม่แนะนำ ผมมองว่ากัญชาควรเป็นพืชที่เสริมรายได้ผมเองยังยืนยันแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใช้หลักการปลูกพืชผสมผสาน กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่ดี แต่การปลูกกัญชาให้ปลูกเพียงส่วนเดียวพอ ไม่ต้องมากแต่ได้มูลค่า เรียกว่า ทำน้อยได้มาก ปลูกน้อยๆ แต่มูลค่าเขาสูง ปลูกข้าวตันละ 8,000-15,000 บาท ขณะที่กัญชากิโลกรัมละประมาณ 3,000-5,000 บาท ไม่ต้องปลูกเยอะครับ แล้วเอาเงินที่ได้มาส่งลูกเรียนหนังสือ เอาเงินจากกัญชามาทำเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ ทำเกษตรอินทรีย์

ปิติสุรกาญจน์ ความท้าทายในการปลูกอยู่ที่ความรู้ของเกษตรกร เกษตรกรส่วนมากนอกจากทิ้งความรู้ในการปลูกกัญชาไปนานแล้ว ส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ในการปลูกมาหลายสิบปี อีกทั้งยังไม่ได้ศึกษากฎหมายที่แท้จริงของกัญชาเลย ปัจจุบันนี้การทำให้เกษตรกรเข้าใจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นเพราะประเทศไทยมีการเปิดกว้างความรู้ในการปลูกมากขึ้น

อคิราภ์ คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าปลูกกัญชาผิดกฎหมาย ปลูกกัญชงผิดกฎหมาย การปลูกกัญชาเปิดโอกาสให้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกระบวนการในการขออนุญาต การปลูกวางไว้หมดแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง ขาดการศึกษาเชิงลึกว่า จะต้องคุยกับใครติดต่อขออนุญาตหน่วยงานไหน

 

การปลดล็อกกัญชา ไม่ใช่แค่การให้โอกาสคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ในองค์กร ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งทางการเกษตร เกษตรกร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง การพัฒนาจากนี้จึงอยู่ที่ความตั้งใจจริงของทางภาครัฐที่จะควบคุม กำกับ และส่งเสริมพืชเศรษฐกิจนี้อย่างไร รวมถึงจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้ดีกัญชาจะกลายเป็น “ยาวิเศษ” ที่ให้ประโยชน์กับทุกภาคส่วนได้

 


 

 

Category:

Passion in this story