การระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก รวมถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานสตรี ในประเทศไทยเองก็พบปัญหานี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรง การเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ และการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว โครงการปลอดภัยและยุติธรรม (Safe and Fair) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Spotlight Initiative อันเกิดจากความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และสหประชาชาติ (UN) โดยมีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือ UN WOMEN เป็นผู้ดำเนินการหลัก จึงจัดเสวนากลุ่มเรื่อง “การแก้ปัญหา : การโยกย้ายที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในสถานการณ์โควิด-19” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

ทั้งนี้ เพื่อระดมแนวคิดจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงการวางแนวทางไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวทางสหประชาชาติหรือ SDGs โดยเฉพาะ SDG 5 – ความเท่าเทียมทางเพศ, SDG 8 – งานที่มีคุณค่า, SDG – 10 การโยกย้ายอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ, และ SDG 16.2 – การยุติการละเมิดการแสวงหาประโยชน์การค้ามนุษย์และความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบ

นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (FLEP) กล่าวว่า

ในประเทศไทยมีแรงงานสตรีที่ทำงานในบ้านมีจำนวนมากถึง 90% และส่วนหนึ่งเป็นแรงงานด่างด้าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แรงงานหญิงเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากนายจ้างทำงานหรืออยู่บ้านนานขึ้น ทำให้ภาระของแรงงานเพื่มมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น ในบางกรณีไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่ม

นอกจากนี้ แรงงานที่ทำงานในบ้านส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ในระบบแรงงานตามกฎหมาย ถึงไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยช์ต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม รวมไปถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างด้วย

“แรงงานทุกคนต้องได้สิทธิ์ และได้รับสวัสดิการทางด้านแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน”

นางพูลทรัพย์กล่าว

แนวคิดการคุ้มครองแรงงานสตรี และการเข้าถึงสวัสดิการแรงงานอย่างเป็นธรรมนี้ สอดคล้องกับแนวคิดของ นายเสถียร ทันพรม ผู้ประสานโครงการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (SERC) ซึ่งย้ำว่า “แรงงานทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทย จะต้องมีหลักประกันสุขภาพ”

ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ทาง SERC ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย พบว่ากลุ่มแรงงานต่างชาติถูกจัดให้สำคัญไว้ท้ายสุด ทั้ง ๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญระดับต้น ๆ ต่อภาคการผลิตในระบบอุตสาหกรรมของประเทศ

อย่างไรก็ดี ทางสมาพันธ์ฯ ได้ดำเนินการเก็บข้อมูลแรงงานข้ามชาติไว้แล้ว และกำลังผลักดันให้เข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกต้อง สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมาย

ขณะที่ ดร.สนองวิชญ์ ภูวันทมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปี 2564 ตามแผนเดิมที่ตั้งไว้

แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ทำให้ประเทศต้องเผชิญปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้

ทางกระทรวงฯ ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการเยียวยาแรงงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยให้คำปรึกษาปัญหาทางด้านแรงงานผ่าสายฮอตไลน์

ในช่วงที่เกิดโควิด มีผู้โทรศัพท์เพื่อขอคำปรึกษามากถึง 20,000 สายต่อวัน ทำให้ต้องมีการเพิ่มจำนวคู่สายจาก 30 เป็น 60 คู่สาย  นอกจากนี้ ยังได้ประสานการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ส่วน นายบุรัชต์ จันทรักษ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงแรงแล้ว กฎหมายแรงงานของไทยให้ความคุ้มครองแรงงานต่างชาติเท่าเทียมกับแรงงานไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา และวันหยุด เป็นต้น

แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 มีแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ มีทั้งการถูกเลิกจ้าง การลดเงินเดือน และสวัสดิการต่าง แรงงานที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ สามารถร้องเรียนไปยังกรมฯได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ปัญหาแรงงานต่างชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศอื่นที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

ในเรื่องนี้ ดร. รัชดา ไชยคุปต์ อดีตผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก และประธานคณะทำงานการจัดทำสื่อ เพื่อรณรงค์ขจัดความรุนแรงต่อสตรีและการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียน กล่าวว่า

ในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการออกแคมเปญเพื่อคุ้มครองแรงงานต่างชาติในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับประเทศต่าง ๆ โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องคือ สิทธิแรงงานของลูกจ้างซึ่งเป็นเรื่องที่นายจ้างจะต้องรู้ด้วย การสะท้อนปัญหาต่าง ๆ จากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และการส่งเสริมสิทธิ์แรงงานข้ามชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการณรงค์ให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องอย่างกว้างขวาง โดยการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมกับพื้นที่และเชื้อชาติของแรงงานแต่ละชาติด้วย เพราะแรงงานจากประเทศต่าง ๆ จะมีความสามารถในเรื่องเทคโนโลยีและภาษาไม่เท่ากัน


Category:

Passion in this story